นอกจากปัจจัยทางการเมืองที่มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจแล้วการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบรู้เท่าทันความจริงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวหลักในการแก้ไขปัญหาและการผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าได้

“เห็บสยามโมเดล” ที่ฟังแค่ชื่อก็รู้สึกว่าคิดได้ยังไงวะ...เพราะมันไม่ค่อยจะโสภาสถาพรเท่าใดนัก หรือจะว่าทางพระทางเจ้าก็ไม่ค่อยจะเป็นมงคลเท่าใดนัก

แต่ถ้าว่ากันแบบให้ตรงตามความหมายมันก็ค่อนข้างจะชัดเจนเพียงแต่ถ้าหากหาชื่อที่มันดูดีมีมนต์ขลังสักหน่อยก็จะน่าดูน่าฟังเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางนำพาเศรษฐกิจให้ไปโลดได้

โมเดลด้านเศรษฐกิจรูปแบบนี้ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรมากแต่เป็นเงื่อนไขความเปลี่ยนของโลกที่เป็นจริงก็ต้องขยับปรับตัวแบบรู้เท่าทันโลกเศรษฐกิจ...ว่างั้นเถอะ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่าเป็นแนวคิดกันมา 10 กว่าปีแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมองว่าหากเศรษฐกิจไทยจะโตได้ต้องไปเป็นพันธมิตรกับประเทศที่กำลังเติบโต

ก่อนหน้านี้ไทยเป็นพันธมิตรกับจีนแต่ในขณะนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ประเทศที่จะเป็นพันธมิตรต่อไปก็คืออินเดียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าการเป็นพันธมิตรจีนและอินเดียและมีทำกันอยู่แล้ว

นอกจากจีน อินเดีย และแอฟริกาแล้วก็หันไปพึ่งพาประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีไม่ว่าเป็นกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

พูดง่ายๆว่าจากที่เคยดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจ 2 ขา 3 ขา ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบหลายขาเพื่อเปิดกว้างให้มากขึ้น

เป็นการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของโลก

ยิ่งทุกวันนี้ประเทศที่เคยเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยได้วางเอาไว้ที่สหรัฐฯและยุโรป แต่ตลาดสำคัญที่เคยค้าขายกันว่าเกิดปัญหาและเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทย “ติดลบ” มาหลายปีจนส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม

...

ขืนไม่เปลี่ยนแปลงก็จะไปไม่รอดแน่

นี่กระมังที่กลายมาเป็น “เห็บสยามโมเดล”

คือสามารถดูดเลือดอร่อยๆจากประเทศเหล่านี้ได้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเกาะติดควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ เจริญเติบโตควบคู่ไปกับเขา โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน

คือเมื่อเขาโตเราก็ขอโตด้วยทำนองนั้น

เพียงแต่ว่าก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันบ้างคือ การเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาลงทุนซึ่งก็เป็นช่องทางและความต้องการของเขาอยู่แล้ว

ทว่าเราก็ต้องรู้ตัวของเราเช่นกันเมื่อเห็นเขาโตมากๆ เราก็ต้องอย่าไปโลภ อย่าไปสุ่มเสี่ยงมากจนผูกติดแบบคิดเกินตัว

เพราะถ้าพังขึ้นมาก็พังกันไปทั้งแถบ

ด้วยความเป็นจริงแล้วนโยบายในลักษณะนี้คงไม่ใช่ว่าประเทศไทยคิดได้แต่ประเทศอื่นๆเขาก็คิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าใครจะขยับตัวได้เร็วเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นหาใช่ว่าเขาโง่เสียจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็รู้เท่าทันกัน

แต่ความจริงบนโลกกลมๆใบนี้ประเทศเล็กๆอย่างเรานั้นแต้มต่อในการต่อรองคงมีไม่มากเท่าใดนัก เพียงแต่จะต้องใช้ความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการยอมรับกันได้

สิ่งที่เห็นอยู่อย่างหนึ่งก็คือประเทศใหญ่มักจะเอารัดเอาเปรียบด้วยการออกกฎ กติกา และเงื่อนไขเพื่อให้ประเทศเล็กๆต้องยอมจำนน

ไทยก็เคยคิดเป็นเสือตัวที่ 5 และเอาเปรียบประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่างกัน.

“สายล่อฟ้า”