คดีโรงอบลำไยระเบิดที่สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านตายเจ็บนับร้อย ต่อสู้คดียาวนานเป็นประวัติการณ์ถึง 17 ปี ชนะคดีอาญาแต่คดีแพ่งที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายร่วม 300 ล้านอาจแห้ว เหตุไม่มีใครไปดำเนินกระบวนการพิจารณา จนศาลเห็นว่าทิ้งฟ้อง...
ที่สภาทนายความ วันที่ 29 ก.ค. ได้มีนายสุทัศน์ หรือดลทัต แก้วปัญญา อาจารย์วิทยาลัยเทคโนโยลีพิงค์พระนคร เชียงใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้แทนผู้ประสบเหตุ กรณีเหตุการณ์โรงงานอบลำไยบริษัทหงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เกิดระเบิดจากปุ๋ยโพแทสเซียมที่เก็บไว้ มีผู้เสียชีวิต 36 คน และบาดเจ็บ 46 คน ไร้ที่อยู่อาศัยและเจ็บเล็กน้อย 571 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2542 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ได้เข้าพบนายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร เพื่อขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดีแพ่ง เพราะเกรงว่า ถูกศาลจำหน่ายคดี ทั้งที่เพิ่งชนะคดีทางอาญา (อ่านข่าว โรงอบลำไยระเบิดสู้คดี 17 ปี! ชาวบ้านชนะ จำเลยติดคุก ถามแล้วใครจะชดใช้)
ต่อมา นายสุนทร และคณะ ได้สอบข้อเท็จจริงทราบว่า หลังจากเกิดเหตุ อัยการได้ยื่นฟ้องและผู้เสียหายฝ่ายผู้ตายเข้าเป็นโจทก์ร่วม 25 คน ฟ้องบริษัทหงไทยเกษตรพัฒนาจำกัด นายปธาน ตรีฉัตร กก.ผจก. นายเกิดพันธ์ จันทาโรจนศิริ กรรมการ และนายลี หรืออาต๋ง หงเหลิน ชาวจีน เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 4 ตามลำดับ ศาลฎีกาพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นฎีกาที่ 15065/58 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินสองหมื่นบาท จำคุกจำเลยที่ 2,3 คนละ 1 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 1 กับ 3 ฐานมียุทธภัณฑ์ ในฐานความผิดตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน แต่ให้จำเลยนายปธาน จำเลยที่ 2 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 6 ปี 8 เดือน (คาดว่าจำคุกมาครบจนปล่อยตัวแล้ว) ส่วนจำเลยที่ 4 หลบหนีศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีอาญา ศาลคดีส่วนแพ่งได้สั่งรอการพิจารณาคดีส่วนอาญาและการพิจารณาข้อเท็จจริงส่วนแพ่งให้ถือเอาคำพิพากษาส่วนอาญาเป็นที่ยุติ
...
ปรากฏว่า เมื่อศาลฎีกานัดอ่านฟังคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2559 ทางโจทก์ร่วมที่เหลือเพียง 4 คน(ยอมถอนฟ้องเพราะจำเลยจ่ายเงินบรรเทาผลร้ายไปรายละ 5 หมื่นบาท 21 ราย) ซึ่งเป็นชาวบ้านไม่ประสีประสา จึงไม่ได้แจ้งผลคดีไปยังศาลที่พิจารณาคดีส่วนอาญา ประกอบกับทนายความอาสาจากสภาทนายความที่แต่งไว้เมื่อปี 2542 มีหลายชุด บางคนตาย คนที่เหลือก็รอฟังนโยบายผู้บริหารสภาทนายความชุดหลังและเวลาผ่านไปนาน 17 ปี มีการเปลี่ยนผู้บริหารสภาทนายความหลายชุดจนขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่มีใครไปดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งจนศาลเห็นโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีออกไป
ด้านนายดลทัต ชี้แจงว่า พวกตนไม่รู้กฎหมายและตัวความบางคนก็ตาย คดีแพ่งที่ฟ้องไป 150 สำนวน ทุนทรัพย์กว่า 300 ล้านบาท โจทก์รวม 208 คน จึงเคว้งคว้าง ทำอะไรไม่ถูก อย่างโรงเรียนของตนก็ถูกไฟไหม้ทั้งหลัง จึงฟ้องไป 14 ล้านบาท ชาวบ้านก็ฟ้อง 2 แสนบาทบ้าง แล้วแต่ความเสียหายแต่ละคน จึงทำอะไรไม่ถูก ทั้งที่เรื่องนี้มีผู้ได้รับผลกระทบถึง 517 ครัวเรือน และรอคดีอาญามานาน 17 ปี พอชนะคดีก็ไม่อาจต่อสู้คดีแพ่งได้จึงเสียใจและขอพึ่งสภาทนายความเป็นที่พึ่งสุดท้าย
ขณะที่นายสุนทร พยัคฆ์ กล่าวว่า แม้คณะกรรมการบริหารสภาทนายความในปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงเร็วๆ นี้ แต่เรื่องความเดือดร้อนที่สภาทนายความตกลงรับช่วยเหลือ ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารสภาทนายความก็ถือเป็นภาระผูกพันต้องสู้คดีให้ต่อไปฟรี ในคดีแพ่งถึงสามชั้นศาล และยังไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีแล้วจริงหรือไม่ หรือเป็นความเข้าใจไปเองของตัวความ หากโจทก์ทิ้งฟ้องจริง ก็อาจอุทธรณ์ว่าคู่ความมรณะ จึงไม่ทราบกระบวนพิจารณาหรือยังไม่อาจหาทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ สภาทนายความ จึงรับไว้ช่วยเหลือต่อไป.