อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยืนยันว่าประเทศจะไม่เลิกอ้าแขนรับผู้อพยพ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดการโจมตีนองเลือดฝีมือผู้ขอลี้ภัยหลายครั้งก็ตาม...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ค. นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งประเทศเยอรมนี ออกมาประกาศจุดยืนของประเทศว่า จะไม่เลิกนโยบายอ้าแขนรับผู้อพยพ แม้ว่าเยอรมนีจะตกเป็นเป้าของการโจมตีในลักษณะของการก่อการร้ายหลายครั้ง แต่จะเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัย
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุโจมตีที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอลี้ภัยมากมาย ล่าสุดคือเหตุระเบิดฆ่าตัวตายกลางเทศกาลดนตรีในเมืองอันสบาค รัฐบาวาเรีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน ส่วนผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นชาวซีเรียซึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้ลี้ภัยในเยอรมนีแต่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ชั่วคราว เสียชีวิต และก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 ก.ค. ผู้ขอลี้ภัยชาวซีเรียก่อเหตุใช้มีดและขวานโจมตีบนรถไฟในเมืองเวือร์ซบูร์ก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 คน ก่อนคนร้ายถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม ขณะที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอซิส) ออกมาอ้างตัวว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีทั้งสองเหตุการณ์นี้
ขณะที่การโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค. เมื่อวัยรุ่นชาวเยอรมนีเชื้อสายอิหร่านก่อเหตุกราดยิงผู้คนที่หน้าห้างสรรพสินค้า โอลิมเปีย ในเมืองมิวนิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย แต่คดีนี้เชื่อว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
เหตุรุนแรงหลายระลอกที่เกิดขึ้นในเยอรมนี ทำให้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลตัดสินใจย่นระยะเวลาวันหยุดของตัวเองให้สั้นลง และจัดงานแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลินเมื่อ 28 ก.ค. เพื่อประกาศจุดยืนว่าการโจมตีฝีมือของผู้ขอลี้ภัยที่เกิดขึ้นในเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา ไม่อาจเปลี่ยนความตั้งใจในการรับผู้อพยพของเยอรมนีได้ "ผู้ก่อเหตุโจมตีต้องการบ่อนทำลายสำนักแห่งความเป็นชุมชนของพวกเรา รวมทั้งความเปิดกว้างและความตั้งใจของเราที่จะช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราขอปฏิเสธการกระทำเหล่านี้อย่างหนักแน่น"
...
นางแมร์เคิลกล่าวอีกว่า ผู้ขอลี้ภัยที่ก่อเหตุโจมตีได้สร้างความอับอายให้แก่ประเทศที่อ้าแขนต้อนรับพวกเขา แต่เธอยังยืนยันว่า เหล่าผู้ที่หลบหนีการข่มเหงและภัยสงคราม มีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้อง และเยอรมนีจะยึดมั่นในหลักปฏิบัติของตัวเองในการให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่สมควรได้รับ
นอกจากนี้ ผู้นำเยอรมนียังระบุด้วยว่า นอกจากการโจมตีขององค์กรก่อการร้ายแล้ว ยังมีภัยคุกคามใหม่จากอาชญากรที่ไม่ได้อยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และเพื่อตอบโต้เรื่องนี้ เยอรมนีต้องการระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นปัญหาระหว่างกระบวนการขอลี้ภัย