ขณะที่คนไทยอาจจะดีอกดีใจ เชื่อว่าภัยแล้งที่ถล่มประเทศไทยติดต่อกันถึงสองปี น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว ปีนี้ฟ้าฝนตกต้องตาม ฤดูกาล ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผลได้ตามปกติ แต่รายงานของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เตือนว่า ครัวเรือนเกษตรกรเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เกษตรกรมีหนี้ในระดับสูง จากผลกระทบของภัยแล้งที่ผ่านมา
ข่าวดีก็คือปีนี้ชาวนาอาจจะสามารถลงมือปลูกข้าว ทำนาปีได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา แต่ยังต้องกู้ยืมเงินเป็นต้นทุน ในการปลูกข้าวฤดูใหม่ และกู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายในขณะที่รอรายได้จากการเพาะปลูก ฤดูใหม่ แต่ต้องประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพราะปริมาณการผลิตมาก ประกอบกับมีหนี้สินในระดับสูง จึงกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
รายงานของ ธปท.ระบุว่าไตรมาส แรกของปี 2559 ครัวเรือนไทยมีหนี้รวม 11.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ส่วนข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2558 ระบุว่า เกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน มีฐานะ ยากจนอยู่ใต้เส้นความยากจน มีรายได้ ประมาณ 12,000 บาทต่อปี และมีหนี้เฉลี่ย 60,000 บาท
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินกันมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ในราคาแพง และยังมีปัญหาไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง บางจังหวัดเกษตรกรถึง 45–85% ไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งมีหนี้สินล้นพ้น มีตัวอย่างชาวนาบางคนต้องสูญเสียที่นา 10 ไร่ เพราะกู้เงินธนาคาร 6 แสนบาท จนต้องขายนาใช้หนี้
ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน เป็นเกษตรกรประมาณ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวนาราว 18 ล้านคน หรือ 4.8 ล้านครัวเรือน เกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ชาวนาเป็นกลุ่มที่มีปัญหาตามคำกล่าวที่ว่า “ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้” ชาวนากลายเป็นปัญหาใหญ่ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน”
...
แต่รัฐบาล คสช.และสภาพัฒน์กำลังสร้างความหวังใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศรวมทั้งเกษตรกรด้วยการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5% ต่อปี คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี เพิ่มจาก 6,000 ดอลลาร์เป็น 8,200 ดอลลาร์ (286,500 บาท) ส่วนเกษตรกรจะได้ 59,460 บาทต่อปี
แผนของรัฐส่วนใหญ่มักจะเป็นการสร้างความหวัง แม้จะยังไม่จริงแต่ก็ยังดีกว่าอยู่อย่างไร้ความหวัง การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงต้องดูแลกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเป็นพิเศษ เพราะคนไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ห่างกันถึง 35 เท่า อยู่ในกลุ่มประเทศที่เหลื่อมล้ำสุดในโลก ยังไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และการเข้าถึงความยุติธรรมของคนจน.