ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ได้รับอนุญาตให้ทำงานกรรมกร 24 ประเภทกิจการ และงานรับใช้ในบ้านเท่านั้น ส่วนอาชีพอื่นแรงงานต่างด้าวไม่สามารถทำได้ เพราะสงวนไว้สำหรับคนไทย แต่พบว่ามีแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวส่วนหนึ่งลักลอบทำอาชีพเร่ขายสินค้า ขายอาหาร เครื่องดื่ม ขายโรตี ไก่ทอด เข็นรถขายผลไม้ ขายหมูกระทะส่งถึงบ้าน ตลอดจนเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง พบว่ามีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจสอบดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้คนไทยอย่าอุดหนุนสินค้าของคนกลุ่มนี้เพราะลักลอบทำงานผิดกฎหมายในส่วนกลุ่มทำงานอย่างถูกต้อง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเปิดจดทะเบียนต่อใบอนุญาตแรงงานที่มีเอกสารเดิมแต่หมดอายุและผู้ที่มีบัตรสีชมพู ตามมติ ครม. วันที่ 23 ก.พ. โดยเปิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงวันที่ 29 ก.ค. มีนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมายื่นจดทะเบียนแล้วกว่า 5.8 แสนคน ในส่วนของแรงงานเมียนมา ปัจจุบันมีอยู่ในไทยกว่า 2 ล้านคน รัฐบาลไทยกับเมียนมาจะลงนามความร่วมมือด้านแรงงาน ในโอกาสที่นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาเยือนไทยระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.
นายอารักษ์กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างเอ็มโอยูระหว่างไทยกับเมียนมา ประกอบด้วย การจัดทำซีไอ หรือหนังสือแสดงตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทางให้แก่แรงงานเมียนมา จะต้องมีการตรวจสัญชาติโดยตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสัญชาติ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.-ส.ค.โดยทางการเมียนมาจะมีการออกซีไอให้แก่แรงงานเมียนมาที่ถือบัตรชมพูทุกคน หรือหากมีบัตรประจำตัวประชาชนของชาติตัวเองและสำเนาทะเบียนบ้านก็สามารถออกพาสปอร์ตให้ได้ โดยซีไอจะช่วยให้แรงงานเมียนมาเดินทางในจังหวัดต่างๆในไทยรวมถึงเข้าออกไทยกับเมียนมาได้เทียบเท่ากับพาสปอร์ต เพียงแต่อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับทางเมียนมากำหนด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือนำเข้าแรงงานเมียนมาเข้ามาในไทย ต้องกำหนดรายละเอียด ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินไป การจัดส่งแรงงานในกิจการประมงทะเลระบบรัฐต่อรัฐ เนื่องจากเมียนมาจะได้รับความมั่นใจว่าแรงงานจะได้รับสิทธิและความคุ้มครองไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
...
กระทรวงแรงงานประสานงานกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยให้แจ้งตัวเลขความต้องการ รวมทั้งชี้แจงสัญญาจ้างและสภาพการทำงาน การจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งกลับทำหน้าที่ชี้แจงอบรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานในไทยและสิทธิประโยชน์รวมถึงสัญญาจ้างและสิทธิประโยชน์ในการกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยเพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดือดร้อน.