กกจ. เผย "ซูจี"มาไทย เตรียมทำ MOU การข้ามแดนแรงงาน ชี้เจ้าของกิจการหามาตรการรองรับแรงงานกลับประเทศ แนะใช้เทคโนโลยีทดแทนกำลังคน

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา พบกับแรงงานชาวเมียนมา ที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นนโยบายของทางรัฐบาลเมียนมาว่าเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับถิ่นฐานนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านเองว่ามีการลงทุน มีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก ก็เชื่อว่าจะมีความต้องการแรงงานมาก แต่กลุ่มแรงงานเองก็อาจจะมีการชั่งน้ำหนักหากกลับไปที่ประเทศของตน ทั้งในเรื่องของแหล่งที่อยู่ วิถีชีวิตและค่าแรงต่างๆ เทียบกับเมื่ออยู่ประเทศไทย ตรงนี้จะเป็นสิ่งในการตัดสินใจของแรงงาน
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบถูกกฎหมายประมาณ 1.4 ล้านคน มีสัญญาการทำงานอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะกระจายในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมประมง การแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงขาดแคลนแรงงานอยู่ ดังนั้นนายจ้างอาจจะต้องมีการปรับตัวในการจัดการอุตสาหกรรม มีการใช้เทคโนโลยีทดแทนกำลังคนมากขึ้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ก็ต้องเตรียมการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายมากขึ้น บางส่วนก็สามารถใช้แรงงานไทยทดแทนได้ แต่อัตราค่าจ้างก็ต้องให้สอดคล้องกับสิ่งที่แรงงานพึงประสงค์ สอดคล้องกับวิถีการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
 
"ต้องคำนึงด้วยว่าการมาครั้งนี้มีการลงนามเอ็มโอยูว่าด้วยเรื่องการข้ามแดนด้วย ไม่ใช่เรื่องของแรงงานอย่างเดียว การลงนามเรื่องนี้จะทำให้ชาวเมียนมาที่อยู่ตามแนวชายแดนสามารถข้ามมาทำงานในประเทศไทยในลักษณะไปเช้าเย็นกลับได้ จากเดิมที่ทำไม่ได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจที่อยู่ตามแนวชายแดนของประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ จากที่มีแรงงานเคลื่อนไหวตามแนวชายแดน หรืออยู่ได้ 30 วัน เชื่อแน่ได้ว่าถ้าในประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจที่ดี มีอุตสาหกรรม มีรายได้ที่ดี มีเรื่องการข้ามแดนตรงนี้ก็เชื่อว่านายจ้างยังคงมีแรงงานกลับเข้ามาทำงาน เว้นแต่พื้นที่ข้างใน โดยเฉพาะประมง แปรรูปสัตว์น้ำก็จะยังคงมีความต้องการแรงงานมากอยู่ ส่วนแรงงานภาคอื่นๆ ก็คงต้องมีการปรับตัวกันต่อไปในระยะยาว" นายอารักษ์ กล่าว

...