(ภาพ: AFP)

สหประชาชาติเผย จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกทำสถิติสูงเป็นประวัติกาลที่ 65.3 ล้านคนในปี 2015 โดยจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเหตุความรุนแรงในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เปิดเผยในวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย. ว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสถิติใหม่ที่ 65.3 ล้านคนแล้วในปี 2015 และผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ลี้ภัยสงคราม, ความยากจน หรือ ปัญหาอื่นๆ กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าประเทศที่เป็นเป้าหมาย

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า จำนวนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 50% หมายความว่าในขณะนี้ คน 1 คนจากทุกๆ 113 คนบนโลกเป็นผู้ลี้ภัย, ผู้ขอลี้ภัยในต่างประเทศ หรือผู้พลัดถิ่นในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้อพยพเพิ่มสูงขึ้นคือการต่อสู้ในซีเรีย, อัฟกานิสถาน, บุรุนดี และซูดานใต้ โดยการต่อสู้ดังกล่าวทำให้มีผู้อพยพมากกว่า 21.3 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นเด็ก

ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุในงานแถลงข่าวว่า "ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเดินทางถึงชายฝั่งยุโรป เป็นข้อความที่บ่งบอกว่า หากคุณไม่แก้ปัญหา ปัญหาจะมาหาคุณเอง เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดที่ผู้คนในประเทศที่ร่ำรวยต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องการมาตรการ, ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้ง นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการไหลบ่าของผู้ลี้ภัย"

...

ทั้งนี้ ในปี 2015 มีผู้ขอลี้ภัยรายใหม่เข้าไปอาศัยในชาติอุตสาหกรรมมากถึง 2 ล้านคน โดยเยอรมนีรับผู้ลี้ภัยมากที่สุดที่ 441,900 คน ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 172,700 คน ขณะชาติกำลังพัฒนาต่างยังเป็นที่พักอาศัยของผู้พลัดถิ่นถึง 86% ของผู้พลัดถิ่นทุกคนบนโลก นำโดยตุรกีมีรับผู้อพยพชาวซีเรียไว้ถึง 2.5 ล้านคน, ตามด้วยปากีสถาน และเลบานอน

อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพต้องเผชิญกับกระแสความหวาดกลัวชาวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศในแถบคาบสมุทรบอลข่านปิดพรมแดนหรือจำกัดไม่ให้ผู้อพยพเดินทางเข้าประเทศแล้ว ขณะที่สหภาพยุโรปกับตุรกีได้ทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อเดือน มี.ค. เพื่อหยุดการไหลบ่าของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป