มีเอกสารที่เป็นร่างข้อเสนอกลไกของการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินแบบประชารัฐ ซึ่งผ่านตาแล้วน่าสนใจทีเดียว
เอกสารชุดนี้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินแบบประชารัฐ ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ศึกษาจัดทำขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานทั้งของส่วนราชการ รัฐบาล และฝ่ายบริหาร ยังพบว่ามี ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มมากขึ้น ประชาชนได้รับการบริการที่มีความเหลื่อมล้ำ การใช้งบประมาณแผ่นดินส่วนใหญ่ สะท้อนถึงสภาพการพัฒนาประเทศยังมีความล่าช้า
หลักฐานเชิงประจักษ์ของสภาพปัญหาดังกล่าว เช่น ปัญหาโครงการจำนำข้าว ปัญหาการประมงและการค้ามนุษย์ ปัญหาการไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยของการบินพลเรือน ปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนที่ส่งผ่านถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีจำนวนมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของการควบคุมและการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน
ประเด็นปัญหาสำคัญของการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งออกได้เป็น 4 มิติหลัก คือ มิติองค์กรกำกับดูแล ตรวจสอบ และประเมินผล มิติหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (หน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล) มิติฐานข้อมูล และมิติการสื่อสาร และการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ สรุปได้ดังนี้ คือ
มิติที่ 1 องค์กรกำกับดูแล ตรวจสอบ และประเมินผล พบว่าปัญหาหลักได้แก่
1 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลมีหลากหลายหน่วยงาน แต่ขาดการบูรณาการ ผลการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน สับสนในการทำงาน และขาดความเป็นอิสระในการทำงานขององค์กรที่กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน
2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลส่วนใหญ่ทำหน้าที่การสอบทานข้อมูลมากกว่าที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูล
...
3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ขาดอำนาจในการสั่งการ ต่อหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล และยังขาดทรัพยากรในการสนับสนุนการทำงาน เช่น งบประมาณ หลักการ กำลังพล และเครื่องมือ เป็นต้น
4 การกำกับดูแลของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลไปไม่ถึงผลลัพธ์และผลกระทบ การดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
5 ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ
มิติที่ 2 หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (หน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล) พบว่าปัญหาหลักได้แก่
1 หน่วยงานที่ถูกกำกับดูแลส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบ เช่น ให้ข้อมูลไม่ครบ หรือให้ข้อมูลที่ไม่ทันสมัย เป็นต้น ทำให้การตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบทำได้ยากลำบาก
2 ขาดการกำกับดูแลภายในหน่วยงาน ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบหลักคือ ผู้บริหารหน่วยงาน ทำให้การตรวจสอบเกิดช่องว่าง
3 ทัศนคติของหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแลส่วนใหญ่ มองภาพการติดตามและประเมินผลในแง่ลบ คิดว่าเป็นการจับผิดและทำให้เสียหาย ไม่ได้มองว่าการประเมินผลเป็นการพัฒนาปรับปรุงให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4 สืบเนื่องจากการให้ข้อมูลทราบว่าหลายๆหน่วยงานได้จัดทำรายงานเสนอไปแล้ว แต่ผู้มีอำนาจในการตัดสินก็ไม่ได้นำข้อมูลจากรายงานไปใช้ประโยชน์
ส่วนมิติที่ 3 เป็นเรื่องฐานข้อมูล และมิติที่ 4 การสื่อสารและการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ พบว่าต่างมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น เอาไว้ไปติดตามในการเสวนาเรื่องนี้ที่จะมีในวันพรุ่งนี้.
“ซี.12”