การพัฒนาท้องถิ่นถ้าคนในท้องที่หลอมใจกันทำ ย่อมเกิดพลังเข้มแข็ง และสำเร็จได้ไม่ยาก เนื่องจากอยู่กับปัญหา และรู้ปัญหาอย่างแท้จริง
อย่างท้องทะเลอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง หลังคลื่นสึนามิถล่มเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ความเสียหายนอกจากชีวิตและทรัพย์สินมนุษยชาติแล้ว หญ้าทะเลก็พลอยเสื่อมโทรมไปด้วย บางพื้นที่แทบไม่เหลือร่องรอยว่าเคยมีหญ้าทะเลมาก่อน ผลกระทบที่ตามมาคือ สัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู และปลาลดน้อยลง เพราะไม่มีที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร
แถมสัตว์สวยงามและน่ารักอย่างพะยูนก็ลดลงด้วย
“เราอยากช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น จะได้เห็นพะยูนตัวเป็นๆ หลังคลื่นสึนามิ มาทะเลไม่สมบูรณ์ มีสัตว์อาศัยอยู่น้อยมาก แม้กระทั่งปลาเล็กๆที่เราเคยจับมาเป็นอาหารก็ยังหายาก เราจึงรวมตัวกันสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ โดยรวมเอาเพื่อนๆที่มีความสนใจทางเดียวกัน” น.ส.ภูริษาบอก
น.ส.ภูริษา ช่วยธานี หนึ่งในกลุ่มเยาวชนพะยูนน้อย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง บอกความเป็นมาของกลุ่มที่รวมตัวกันปลูกหญ้า
...
ทะเล ก่อนเสริมว่า รุ่นของเธอเป็นรุ่นที่สองแล้ว เข้ามาเพื่อสานต่อ เจตนารมณ์รุ่นพี่ๆ ที่รวมตัวกันทำและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
เธอบอกว่า กลุ่มของเธอปัจจุบันมี 11 คน พวกเธอใช้เวลาว่างจากกิจกรรมโรงเรียนและวันหยุดเรียนออกไปสร้างบ้านให้กับสัตว์ทะเล นั่นคือปลูกหญ้าทะเลในบริเวณที่เสื่อมโทรม และบางพื้นที่ที่เคยมีหญ้าทะเลอยู่แต่ถูกคลื่นสึนามิซัดหายไป
กิจกรรมของกลุ่มพะยูนน้อยทำอะไรบ้าง เธอบอกว่า เริ่มจากศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับพื้นที่ หาความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการหาเมล็ดพันธุ์ การเพาะพันธุ์ การปลูก และการเฝ้าติดตามการเจริญเติบโต ทุกขั้นตอนได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาและบุคคลในท้องถิ่นเป็นอย่างดี
เมื่อรู้ปัญหาและรู้จักหญ้าทะเลแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยยึดหลัก บ้าน วัด และโรงเรียน หรือ “บ-ว-ร” เป็นหลักสำคัญ
การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่มีความเข้มแข็งเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนใกล้พื้นที่ปลูกหญ้าทะเล เพราะถ้าคนในชุมชนเกิดความรู้ ความเข้าใจก็จะให้ความร่วมมือทำให้งานลุล่วง
ส่วนการสร้างความสัมพันธ์กับพระภิกษุสงฆ์นั้น ก็เพื่อจะได้มีหลักธรรม ได้สร้างพฤติกรรมส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม และปัญญาในการทำโครงงานให้ลุล่วง
เมื่อมีความรู้เรื่องหญ้าและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนแล้ว ขั้นต่อไปก็ลงพื้นที่เก็บเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลเอามาเพาะพันธุ์ ขั้นตอนคือ เลือกเก็บเมล็ดพันธุ์แก่ นำมาแกะเมล็ดออกจากฝัก นำมาเพาะพันธุ์ในกระบะโปร่งแสง ใส่น้ำเค็มและใช้ออกซิเจนช่วย และต้องเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ
ระหว่างรอเมล็ดพันธุ์เติบโต ก็ให้ความรู้เรื่องหญ้าทะเลกับเพื่อนๆนักเรียน เตรียมให้เพื่อนๆได้ลงไปปลูกด้วยกัน เพื่อนๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะได้ดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวแล้ว ยังได้สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลอีกด้วย
เมื่อพันธุ์หญ้าได้ขนาดตามต้องการ กลุ่มพะยูนน้อยและเพื่อนๆ นักเรียนที่สนใจก็ลงพื้นที่ไปปลูกหญ้าทะเลร่วมกัน เวลาอันน่าตื่นเต้นและสนุกสนานของเด็กๆนั้น คือวันปีติของอาจารย์ ผู้ปกครอง และคนในชุมชนที่ภูมิใจในลูกหลานของตน
ผลการดำเนินงานโครงงานอนุรักษ์หญ้าทะเลเพื่อน้องพะยูน อาจารย์แสงดาว เพ็ชร์พราว อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการบอกว่า มีความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะว่าระบบนิเวศทางทะเลมีสภาพที่ดีขึ้น
สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัย มีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และมีประโยชน์อีกมากมาย นักเรียนและคนในชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญเป็นอย่างดี
ส่วนพะยูนนั้น ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการ พบว่ามีพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลบริเวณอ่าวบุญคง และหน้าหาดคลองสน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ผิดกับเมื่อก่อนทำโครงการ ที่แทบไม่มีใครได้เห็นพะยูนเลย
พะยูนเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัด มักพบรูปพะยูนปรากฏอยู่ในของที่ระลึกทั้งโปสต์การ์ด งานไม้แกะสลัก พวงกุญแจ และอื่นๆ
...
ความเป็นมาของพะยูนนั้น เชื่อว่าเคยอาศัยหากินอยู่บนบก และมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับช้าง เมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้ว สายพันธุ์ของพะยูนได้มีวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นมาอยู่บนบกอีกเลย
ลักษณะของพะยูน เป็นสัตว์ผู้น่ารัก มีขนสั้นๆประปรายตลอดลำตัว มีขนเส้นใหญ่อยู่หนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็ก
อย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็กๆ ไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ รูจมูกมีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่ อยู่สองข้างของลำตัวและมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐานครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า
จังหวัดตรังมีการอนุรักษ์พะยูนอย่างกว้างขวาง และยังนำมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดด้วย เมื่อปี พ.ศ.2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์”
สำหรับกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลเพื่อพะยูนของเด็กๆ อาจารย์แสงดาว เพ็ชร์พราว ครูที่ปรึกษาบอกว่า เกิดจากการรวมตัวกันของนักเรียน เพราะเห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลเสียไป เนื่องจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของปลาเหลือน้อยมาก ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้พะยูนหายไปจากทะเลตรังได้
ผลจากการทำกิจกรรมนี้ เคยได้รับรางวัลระดับชาติมาแล้ว นั่นคือรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากโครงการ เธอคือแรงบันดาลใจ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
...
น.ส.ภูริษา ฝากบอกเพื่อนนักเรียนว่า “อยากให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ โลกของเราจะได้สวยงาม เราเอาเวลามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะเสียเวลากับเรื่องเกมหรือเรื่องอื่นๆที่ไม่เกิดประโยชน์”
การทำโครงงานของเด็กนักเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ ถือเป็นอีกบทหนึ่งของนักเรียนที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และน่าจะเป็นแนวทางดำเนินกิจกรรมตามนโยบายรัฐบาล เรื่อง ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ได้เป็นอย่างดี.