ผมคาใจปัญหาดอกเบี้ย ของเบี้ยปรับ...ตามคำสั่งศาลร้อยละ 7.5 ในบรรยาการดอกเบี้ยแบงก์ทำท่าจะเหลือศูนย์ แล้วก็สงสัย ทำไม “เบี้ย” จึงหายไป
ไปศูนย์หนังสือจุฬาฯ เจอ “จากเบี้ยหอย ถึงเงิน กระดาษ” (สังคีต จันทนะโพธิ สำนักพิมพ์เพชรประกาย พ.ศ.2559) จึงรีบซื้อมาอ่าน
ในสมัยโบราณ มนุษย์ซื้อขายด้วยการใช้สิ่งของแลกเปลี่ยน ต่อมามีผู้คิดค้นเงินตราเป็นสื่อกลางซื้อขาย หรือชำระหนี้
เงินตราที่พบในประเทศไทย แบ่งเป็น 6 ยุคสมัย
1. สมัยทวารวดี (ราว พ.ศ.800-1200) ตราประทับเป็นเครื่องหมาย ตราสังข์กับตรี ตราครุฑกับดอกจันทน์ ตราปราสาทกับดอกจันทน์ ตราสังข์กับปราสาทมีปลา
2. สมัยศรีวิชัย (ราว พ.ศ.1200-1700) พบขณะนี้ชนิดเดียว ตราดอกจันทน์ขนาดเล็กมาก
3. สมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ.1800–1981) มีตราช้าง ตราราชสีห์ ตราราชวัตร ตราแพะ ตราครุฑกับจักร์ ตรารวงผึ้ง ตราช่อดอกบัว ตราวัว ตราดอกไม้ ตรานะโม ตราสังข์ ตราสังข์กับช้าง
4. สมัยอยุธยา (ราว พ.ศ.1893-2310) มีตราบัว ตรากินรี ตรากระต่าย ตราไก่ ตราราชสีห์ ประกับเบี้ย หอยจั่น
5. สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310-2325) มีตราซ่อมมี 2 แฉก ตราศรีศีลมี 3 แฉก
6. สมัยรัตนโกสินทร์ มีตราบัว หรืออุณาโลมกับจักร์ ตราครุฑกับจักร์ ตรามงกุฎกับจักร์ และตราพระเต้า ตราช่อรำเพยกับจักร์และพานเกล้ากับจักร์
เงินพดด้วง มี 4 ขนาด ขนาดใหญ่ 1 บาท ขนาดรอง กึ่งบาท และสลึง ขนาดเล็กที่สุด ราคาเฟื้อง
เครื่องแลกเปลี่ยนที่ย่อยลงมากกว่านั้น คือ เบี้ยหอย
เบี้ยหอยเก็บมาจากทะเล อัตราราคา 800 เบี้ยต่อหนึ่งเฟื้อง แต่ราคาไม่คงที่ อาจขึ้นลงได้
ถ้ามีชาวต่างประเทศเอาเรือบรรทุกเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก ราคาเบี้ยก็ต่ำ อาจลงถึง 1000 เบี้ยต่อเฟื้อง ตอนใดที่เบี้ยขาดแคลน อัตราแลกเปลี่ยน เป็น 600 ต่อเฟื้อง
...
คนไทยคุ้นเคยกับเบี้ย จึงมีคำ “เบี้ย” ใช้มากมาย เบี้ยกันดารเบี้ยแก้ เบี้ยต่อไส้ เบี้ยทำขวัญ เบี้ยน้อยหอยน้อย เบี้ยบน เบี้ยล่างเบี้ยบ้ายรายทาง เบี้ยโบก เบี้ยเลี้ยง เบี้ยหวัด เบี้ยหัวแตก เบี้ยปรับ ฯลฯ
แต่ก็มีเหตุให้ “เบี้ย” หายไป
เมื่อสยามทำสัญญาค้าขายกับต่างประเทศ เดิมมีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายปีละราว 12 ลำ ก็เพิ่มเป็นปีละ 200 ลำ (บันทึกหมอบรัดเลย์ บางกอกกาลันเดอร์ เล่ม ค.ศ.1869)
พ่อค้าฝรั่งเอาเหรียญดอลลาร์ที่ใช้ในจีนเอามาซื้อสินค้าไทย ไทยไม่ยอมรับ พ่อค้าก็เอาดอลลาร์มาขอแลกเงินจากรัฐบาล แต่ก็เป็นภาระยุ่งยากเต็มที
เงินพดด้วงนั้น ช่างหลวงที่ทำเงินของพระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งทำด้วยมือ ได้เพียง 240 บาท เตาหลวงมีอยู่ 10 เตา ระดมเต็มที่ก็ได้ เพียงวันละ 200–400 บาท สนองความต้องการของฝรั่งไม่ทัน
ร.5 ทรงทำทุกวิถีทาง เงินพดด้วงก็ยังใช้อยู่ จนปีจอ พ.ศ.2405 โปรดให้โรงกษาปณ์ทำเหรียญดีบุกขึ้นใช้แทนเบี้ยหอย
การใช้เบี้ยหอยก็เลิกใช้ไปตั้งแต่นั้น
แม้เบี้ยหอย เลิกใช้ไปนาน แสนนาน น่าอัศจรรย์ ที่ดอกของเบี้ยหอย หรือดอกเบี้ยของเงิน ก็ยังงอกงามอยู่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แบงก์ทหารไทย โฆษณาลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ เกิดแรงสะเทือนตามมา ไม่กี่วันก็ต้องยกเลิก ต้นเหตุได้ความว่า แบงก์ ทหารโฆษณา ฝากถอนไม่เสียค่าบริการ ลูกค้าแห่เอาเงินเข้าไปฝาก จนล้นแบงก์ กลายเป็นภาระ
ความจริงของธุรกิจการเงินวันนี้ ดอกเบี้ยต่ำจนทำท่าจะเหลือศูนย์ แต่มีความจริงที่น่าหัวเราะอีกข้อ คือ ดอกเบี้ยของเบี้ยปรับ ตามคำสั่งศาล ใช้กันร้อยละ 7.5 ตั้งแต่ปีมะโว้ จนถึงปีนี้...ก็ยังใช้
จะบอกว่า ถึงยุคดอกเบี้ยไม่บาน ก็ยังไม่ได้ เพราะดอกเบี้ยตามคำสั่งศาล ยังบานทะโร่โท่เห็นตำตาอยู่.
กิเลน ประลองเชิง