นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. ปชป. ปูด 5 ปม ส่อโกงใน กปภ. เอื้อเอกชนซื้อคลอรีนแพง-ใช้ท่อไร้คุณภาพ เร่งถอนหุ้น "อีส วอเตอร์" จี้ "เสรี" ผู้ว่าการฯ คนใหม่ เร่งสะสางใน 1 เดือน ก่อนร้อง ป.ป.ช. จัดการ
วันที่ 12 มิ.ย. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) คนใหม่ ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของ กปภ. รวม 5 เรื่องแล้ว คือ 1. การจัดซื้อคลอรีนเหลวซึ่งมีการประกวดราคากันไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนใหญ่แห่งหนึ่ง เจ้าพ่อคลอรีน ประจำประเทศไทยทำการยื่นซอง วันที่ 25 ม.ค. และต่อรองราคาก่อน ทั้งที่ ทีโออาร์ ระบุว่า หลังจากเคาะราคาแล้ว จึงให้มีการต่อรองราคา โดยกำหนดเคาะราคาในวันที่ 26 ม.ค. ถือว่าทำผิดขั้นตอนและยังพบพิรุธมีการบวกราคาค่าขนส่งกับค่าแก๊สบวกคลอรีนเหลวเกินความจริง เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกในเขตที่ 1 มีค่าขนส่งอยู่ที่ 1,260 บาทต่อท่อ ค่าแก๊ส 1,250 บาท รวมเป็นยอด 2,510 บาท แต่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท เป็น 2,560 บาท ขอให้ตรวจสอบว่า เหตุใดค่าขนส่งจึงแพงบ้าเลือดขนาดนี้
นายวิลาศ กล่าวอีกว่า 2. กรณีการวางท่อประปา ระยะทาง 44.5 กิโลเมตร ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 715 ล้านบาท ในปีแรก หลังการท่อประปามีท่อแตกรวม 132 ครั้ง ทำให้ กปภ.เสียหายจากน้ำรั่วไหลกว่า 162.5 ล้านบาท มีการตั้งกรรมการสอบ แต่คนที่รับผิดชอบกลับได้เลื่อนเป็นรองผู้ว่าฯ ไล่นายช่างระดับล่างออกสองคน ส่วนตัวใหญ่ที่เกี่ยวข้องแค่ตักเตือน ไม่ดำเนินคดี ทั้งที่มีการนำท่อประปาไร้มาตรฐานมาก่อสร้าง ปัจจุบันเกินสองปีหมดสัญญาค้ำประกัน ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทนี้ยังรับงานกับ กปภ.ต่อได้อีก
...
3. การก่อสร้างอาคารที่การประปาภูมิภาค เขต 1 โดยทำสัญญาวงเงิน 25 ล้านบาท มีการนำหนังสือค้ำประกันจากบริษัทลิสซิ่งมาค้ำ ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ จึงต้องบอกเลิกสัญญา นำบริษัทรายใหม่เข้ามา จนขณะนี้ยังไม่มีการเรียกค่าชดเชยจากบริษัทแรก และคนที่รับผิดชอบปัจจุบันเป็นถึงรองผู้ว่าการประปาฯ แล้ว 4. คือการซื้อที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในราคาสูงเกินจริง และยังเป็นการซื้อที่ดินในแนวเวนคืนด้วย ทั้งที่ยังหาแหล่งน้ำดิบไปทำน้ำประปาไม่ได้ จึงเป็นการซื้อที่ดินทิ้งโดยไร้ประโยชน์ ที่สำคัญคือ กรณีนี้ทำผิดระเบียบเพราะเป็นการซื้อที่ดินในแนวเวนคืน
นายวิลาศ กล่าวต่อว่า 5. กรณีบริษัทอีส วอเตอร์ ที่สูบเลือดจาก กปภ. ได้กำไรและแบ่งโบนัส แต่ กปภ. อาการร่อแร่ หลังมีการตั้งบริษัทนี้เพราะต้องซื้อน้ำดิบมาทำประปาผ่านบริษัทนี้ ทำให้ต้องซื้อน้ำดิบในราคาแพงถึงคิวละ 10.50 บาท โดยอ้างว่าบริษัทอีส วอเตอร์ ลงทุนวางท่อ ทั้งที่เดิมเคยซื้อจากชลประทานได้ในราคาคิวละ 50 สตางค์ บริษัทนี้จึงเป็นเหมือนเสือนอนกินและยังมีการตั้งบริษัทลูกมารับงานจาก กปภ. อีกด้วย จึงขอเรียกร้องให้ กปภ. ถอนหุ้นออกมา ที่สำคัญคือ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า การที่ กปภ.ถือหุ้นในบริษัทอีส วอเตอร์ เป็นการกระทำที่ขัดกับ พ.ร.บ.การประภาส่วนภูมิภาค มาตรา 5 โดยตีความไว้ตั้งแต่ปี 42 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการถอนหุ้น ทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ขอให้นายนายเสรี ผู้ว่าการ กปภ. คนใหม่ ที่ประกาศว่าจะจัดการกับการทุจริตขอให้ทำอย่างจริงจัง โดยตนจะนำข้อมูล เอกสาร หลักฐานทั้งหมดนี้ไปมอบให้นายเสรี เพื่อให้เร่งดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส โดยจะให้เวลา 1 เดือน หากไม่มีความคืบหน้าจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป.