เช็กก่อนแชร์...เว็บไซต์ปลอมไทยรัฐกำลังระบาด โปรดระวังอย่าได้หลงเชื่อ...เข้าใจผิด! จำกันให้แม่นๆ เว็บไซต์จริงของแท้ที่ถูกต้องก็คือ www.thairath.co.th เท่านั้น
ตอกย้ำด้วยจุดสังเกต 4 ประการ หนึ่ง...URL จะเขียนว่า www.thairath.co.th สอง...พาดหัวข่าวจะใช้ฟอนต์อักษรที่เป็นเอกลักษณ์ไทยรัฐ สาม...ภาพข่าวที่นำเสนออยู่ภายใต้หลักกฎหมายและจรรยาบรรณสื่อ
สี่...เนื้อหา มีความถูกต้อง และใช้คำที่เหมาะสม แตกต่างจากเว็บไซต์ปลอม ที่จะลงภาพข่าวแบบไม่มีเซ็นเซอร์ ไม่เบลอภาพศพหรือผู้เสียหาย
ประเด็นสำคัญ...พาดหัวข่าว เนื้อข่าว จะมีการบิดเบือน... หลอกลวง...เป็นข่าวเท็จ
ตัวอย่างเว็บไซต์ไทยรัฐปลอมที่พบ 6 เว็บไซต์ ได้แก่ www.thairath-online.com/@/5b/ios.html, www.thairath-online.com/@/t/ios.html, www.thairath-online.com/@/ dek7/win.html, www.thairath-online.com/@/zoo/ win.html, www.thairath-online.com/@/123-iphone/, www.thairath-online.com/@/s8-2/an.html
พฤติกรรมเว็บปลอม www.thairath-online.com นำเสนอภาพ ข่าว ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จนคนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น มีการแชร์ แสดงความคิดเห็นออกมาหลากหลายแง่มุม นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดเครื่องหมาย “ไทยรัฐ” ทำให้เกิดความเสียหายอีกด้วย
...
ประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ การคลิกเข้าไปดูเนื้อหาข่าวในเว็บไซต์ปลอมอาจเป็นการชักศึกเข้าบ้าน นำ “ไวรัส” เข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ ท้ายที่สุดแล้วเครื่องของคุณอาจโดนแฮ็กข้อมูลส่วนตัว ขโมยพาสเวิร์ดต่างๆภายในเครื่องได้อย่างแนบเนียนแบบไม่ทันตั้งตัว
อีกกรณีบางเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หากส่งต่อแชร์กันโดยที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง อาจมีคนโดนหลอก บริจาคทรัพย์สิน เงินทอง ไปช่วยโจร ไม่ได้ถึงมือผู้ยากไร้อย่างที่ตั้งใจ
หลังจากผู้ดูแลเว็บไซต์ “ไทยรัฐ” ตัวจริงเสียงจริงเริ่มประกาศอย่างเป็นทางการทั้งในเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กว่ามีเว็บไซต์ปลอมระบาด ก็มีหลายเสียงสะท้อนเข้ามาให้รู้ว่า ได้เคยเห็น เชื่อไปแล้วเหมือนกัน
เสียงหนึ่งบอกว่า ปลอมเยอะมาก ทั้งไทยรัฐและข่าวสด เจอบ่อยๆ... ข่าวเว่อร์ๆ ทำเพื่ออะไร...สงสัยโรคจิต ก่อนที่จะเข้าไปดู เช็ก ตรวจสอบ URL ให้ดี
อีกเสียงก็ว่า...“ผมรู้และสังเกตมานานแล้ว เว็บไซต์ที่ว่านี้... ส่วนใหญ่นักคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ดูออก ข่าวที่นำเสนอดูออกจะแปลกๆ…URL ชื่อก็ไม่ถูกต้อง เมนูภาพลิงก์ก็คลิก กดเข้าไปไม่ได้ หรือภาคลิงก์ภายนอกก็กดไม่ได้ แถมเนื้อหาก็ยังเขียนไม่ได้เรื่องอีก”
ย้อนรอยเว็บปลอมไทยรัฐ เริ่มระบาดให้เห็นเป็นกระแสมากขึ้นราวปลายปีที่แล้ว แต่เป็นการอ้างอิงว่าเป็นข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน...
เป็นข่าวเกี่ยวกับอาการป่วยของ พระเอกดัง “ปอ ทฤษฎี”
ครั้งนั้นผู้ไม่หวังดีก็ดัดแปลงเว็บไซต์ให้มีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ แล้วเผยแพร่ข้อมูลเท็จ แน่นอนว่าการแชร์...ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
อีกข่าวเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ปีนี้ เว็บปลอมสร้างข่าวปลอมว่า “แม่อี๊ด โปงลาง...ฆ่าตัวตาย” ข่าวนี้เล่นเอาผู้คนตกอกตกใจกันจนเป็นกระแส
ข่าวที่ออกมาระบุว่า หญิงชราผูกคอตายประชดลูกชายที่ไม่เคยเหลียวแลส่งเสียเลี้ยงดู และประกาศว่า สงกรานต์หากลูกไม่กลับบ้านจะผูกคอตายประชดที่หน้าบ้าน ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นแม่เลี้ยงของนักร้อง นักดนตรีชื่อดัง “อี๊ด โปงลาง” ข่าวนี้แพร่กระจายรวดเร็วปานสายลมพัดผ่านในโลกโซเชียล...
...
ก่อนที่จะได้รับการตรวจสอบในตอนหลังพบว่าเป็น “เว็บไซต์ปลอม”
ทีมข่าวไทยรัฐทีวีติดต่อไปยัง “อี๊ด โปงลาง” เพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าเพิ่งทราบข่าวนี้จากเพื่อนที่แชร์ส่งข้อมูลมาให้เหมือนกัน และตกใจมากที่เล่นแรงถึงขนาดนี้
ฝากเตือน “คนเสพข่าว” ให้ระวัง อย่าหลงเชื่อเว็บไซต์ข่าวปลอม
อีกรายเป็นกระแสไม่นานมานี้ ผู้คนไม่น้อยอาจจะเห็นแชร์ผ่านตากันในไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก “ตุ้ย ธีรภัทร์...ฆ่าตัวตายเพราะรักขม”
งานนี้...เล่นเอาเจ้าตัวมึนสุดๆ เพราะต้องรับโทรศัพท์จากพี่ๆน้องๆ รวมทั้งเพื่อนฝูงที่โทร.มาหาด้วยความเป็นห่วง พร้อมยืนยันว่า...ชีวิตยังอยู่ดีมีสุข ความรักก็ไม่ได้มีปัญหาใดๆ แล้วก็ไม่ได้มีกิ๊กพริตตี้จนทำให้เกิดรักขมถึงขั้นต้องฆ่าตัวตายแต่ประการใด
“ลับ ลวง พราง” ข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชียล? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีข้อแนะนำบางประการก่อนที่จะตัดสินใจ “แชร์” เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเอาไว้ได้น่าสนใจ
...
อันดับแรก...เลือกแชร์ข้อมูลจากคนรู้จักที่ไว้ใจได้ มีวุฒิภาวะในการสร้างข้อมูลนี้ขึ้นมา หรือองค์กรข่าวที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากอย่างน้อยจะมีการกลั่นกรองมาแล้วชั้นหนึ่ง...แม้ว่าข้อมูลจะมาจากคนรู้จักที่ไว้ใจได้ หรือองค์กรข่าวแต่ก็ต้องเข้าใจและตระหนักว่า มีความเป็นกลางมากเพียงใด มีอคติหรือลำเอียงหรือไม่
ถัดมา...เลือกแชร์ข้อมูลที่มีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งกับสังคม กับสมาชิกคนอื่นๆในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นแง่คิดในการดำเนินชีวิต สาระ ความบันเทิง ที่ไม่ขัดกับศีลธรรมของสังคม และไม่ใช่ข้อมูลที่รู้ได้ว่าหลอกลวง
“หากมีลิงก์ของข่าว หรือลิงก์ที่นำไปสู่เนื้อหาต้นฉบับ ควรกดอ่านข้อมูลต้นฉบับก่อนกดแชร์ ว่าข้อมูลต้นฉบับตรงกับข้อมูลที่ได้มาหรือไม่ กรณีเป็นภาษาอังกฤษ ควรอ่านเนื้อหาว่าข้อความนั้นแปลถูกต้องตามความหมายหรือไม่ หากไม่แน่ใจต้องชั่งใจว่าจะแชร์หรือไม่ อาจมีโอกาสแปลผิดได้ จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม”
หากเป็นข่าวหรือข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องใช้วิจารณญาณให้มากเป็นพิเศษ โดยอาจยึดหลักจริยธรรมพื้นฐานหรือหลักศาสนาที่ท่านนับถือ ว่าการเผยแพร่ข้อมูลนี้ต่อไป ซึ่งทำให้ท่านรับบทบาทเสมือนสื่อมวลชนนี้ จะมีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่อย่างไร
...
ที่สำคัญ...เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายซ้ำหรือไม่ และไม่แชร์ข้อความหรือภาพที่ผิดกฎหมายเด็ดขาดในทุกกรณี
สุดท้าย...หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลา เช่น ขอความช่วยเหลือ เช่น เด็กหาย ขอรับบริจาคเลือด หลายกรณีเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ผิดพลาด ...ควรตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ร้องขอความช่วยเหลือได้รับความช่วยเหลือไปแล้วหรือยัง มิเช่นนั้น...เรื่องนั้นก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในโลกโซเชียลไปอีกอย่างไม่รู้จบ
โลกโซเชียลมีพลังมหาศาล แต่ก็ก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน “ความรับผิดชอบ”...“สามัญสำนึก” ของผู้ใช้แต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ และต้องพึงตระหนักไว้เสมอว่า ในโลกโซเชียลนั้น...“สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น”...ตั้งแต่ข้อความ รูปที่ลง ข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึงภาพประจำตัว.