"วิษณุ" แจง ปปง.อายัดสิทธิ์เรียกร้องหนี้ของเอกชนคดีคลองด่าน ส่งผลรัฐหยุดจ่ายงวด 2 ไปก่อน อุบรื้อฟื้นคดีศาลปกครองหรือไม่ กลัวเสียรูปคดี แต่รับมีคนเสนอจริง แจง มติ ครม.เพียงรับทราบสั่งปิดเหมืองทองคำ เตือนอย่าฟ้องกลับ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.59 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติให้อายัดทรัพย์สินจากการกระทำผิดของกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิ์เรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลง ที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ในคดีคลองด่านว่า ปปง.ใช้อำนาจ ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จากรัฐในการชำระเงินงวดที่ 2 ในวันที่ 21 พ.ค. และการชำระงวดที่ 3 ในวันที่ 21 พ.ย. ซึ่งตามกฎหมาย ปปง.สามารถทำได้และทำมาเยอะแล้ว เพราะถือว่าสิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ปปง. ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล และไม่ใช่เรื่องของคู่สัญญาอย่างกรมควบคุมมลพิษ อีกทั้งไม่ใช่การเบี้ยวหรือบิดพลิ้ว เพราะรัฐบาลพร้อมจะชำระ แต่เมื่อ ปปง.มีคำสั่งเช่นนั้น กระบวนการจึงต้องหยุดก่อน นอกจากนี้ คำสั่งอายัดของ ปปง.ถือเป็นคนละเรื่องกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่รัฐจ่ายค่าเสียให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปปง.มีอำนาจอายัดทรัพย์ได้ 90 วัน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าต้องมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ปปง.จะปล่อยไป แต่ถ้าเกี่ยวข้อง ปปง.ไม่เชื่อตามที่มีการชี้แจง จะมีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ ปปง.เพื่อให้ลงมติว่าจะฟ้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเลยหรือไม่ และถ้ามีมติให้ฟ้อง คดีจะไปสู่ชั้นศาล ปปง.เป็นโจทก์ กิจการร่วมค้าเป็นจำเลย ศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น แต่ถ้ากิจการร่วมค้าชี้แจงได้จน ปปง.ไม่ติดใจ ปปง.ถอนอายัดเมื่อไร รัฐบาลก็ยินดีจะจ่าย และถึงตอนนั้นหากจะเจรจาขอลดหย่อนอะไรกันก็แล้วแต่ ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการอายัดรัฐไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินในงวดที่ 2 และไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม

...

เมื่อถามถึงกระแสข่าว ที่มีการเสนอให้รัฐบาลยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้รื้อฟื้นคดีคลองด่านขึ้นมาอีกครั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ขอพูดเท่าที่พูดได้ บางส่วนยังไม่สมควรที่จะพูด เนื่องจากต้องไปหาข้อมูลให้ชัดเจนกว่านี้ โดย 3 – 4 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องหนึ่งที่มีคนเสนอทางออก แต่ตนขอยังไม่พูด เพราะเป็นสิ่งที่ตกลงกันไว้ว่ายังไม่ควรที่จะพูดเรื่องนี้ เดี๋ยวเสียรูปคดี เมื่อถามถึงกรณีที่มีการยกแนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าโง่ทางด่วน บางนา-บางปะกง 6,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นสัญญาไม่ชอบกฎหมาย เพราะมีการทุจริตตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับบริษัทเอกชน มาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีนี้

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหยิบยกตัวอย่างเรื่องนี้ในที่ประชุม เพื่อให้เห็นอะไรบางอย่าง แต่หลายฝ่ายในที่ประชุมมองว่าเป็นคนละนัยกัน ส่วนการรื้อฟื้นคดีในศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามมาตรา 75 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองบัญญัติว่า เมื่อคดีที่ศาลปกครองตัดสินถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถให้คู่กรณีหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองรับเรื่องไว้พิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องทำภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนไม่ขอตอบว่ากระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นแล้วหรือไม่ และไม่ขอตอบว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องนี้เมื่อใด เพราะตนก็ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า การที่ ปปง.อายัดทรัพย์โดยอ้างคำพิพากษาของศาลอาญาถือว่า มีแนวโน้มที่ดีต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลอาญาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ศาลอาญาเพียงแค่ตัดสินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.58 ในคดีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.58 ว่า มีความผิดจริงตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ซึ่งคำพิพากษาของศาลยังพูดเลยไปว่า เนื่องจากไปกระทำสิ่งที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มกิจการร่วมค้า แต่ต้องเข้าใจว่ายังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทราบว่าจำเลยได้อุทธรณ์ ขณะเดียวกัน กลุ่มกิจการร่วมค้าไม่ได้เป็นจำเลยร่วมด้วย จึงจะเอาคำพิพากษาไปบอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เองไม่ได้ ดังนั้น ในส่วนของรัฐที่จะไปดำเนินการอะไรตรงนี้มันจะยาก

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ตนขอย้ำว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.เป็นคนชี้มูลและส่งฟ้องต่อศาลอาญา เลยถามว่าทำไมเมื่อเริ่มตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.ไม่ฟ้องเอกชนไปด้วย ตรงนี้คือ คำถามที่ยังต้องการคำตอบ เพราะมันเริ่มมาด้วยกัน มีผู้เกี่ยวข้องมาจำนวนหนึ่ง แล้วบอกว่าคนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ปล่อยไปให้หมด เอาเฉพาะจำเลยทั้ง 3 คนนี้ แต่เมื่อศาลลงโทษ 3 คนนี้ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ควรพูด มีอะไรที่ต้องไปหาคำตอบบางอย่าง

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ยกเลิกการทำเหมืองทองคำทั่วประเทศว่า มติดังกล่าวเป็นมติรับทราบคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ เพราะระบุชัดเจนว่า จะให้ปิดเหมืองปลายปี 2559 ส่วนสัญญาที่เหลือนั้นส่วนตัวไม่ทราบในรายละเอียด ส่วนที่บริษัทเอกชน บอกว่าจะฟ้องกลับนั้น ครม.ไม่ใช่ผู้สั่งปิด อย่ามาฟ้อง ครม. ส่วนจะฟ้องใครตนไม่ทราบ อย่าฟ้องตนแล้วกัน.