กระแสเกิดท่าเรือน้ำลึกทวายและประชาคมอาเซียนปลุกให้รัฐบาลไทย–พม่าผุดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2555 อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 และมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จึงให้ประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

ด่านเปิด-ปิดระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.

ฝั่งตรงข้ามบ้านพุน้ำร้อนคือ บ้านทิกิ เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ทั้งสองฟากฝั่งปี พ.ศ.2559 ยังอยู่ในสภาพเตรียมตัว ฝั่งไทยนอกจากอาคารของตรวจคนเข้าเมือง และอาคารที่ทำการแล้ว มีร้านค้าไม่มากนัก สินค้ายังมีของป่าประเภทผักหวาน ส้มมะขาม หน่อไม้ ปลาหมึกตัวโตๆ และหมูป่าจากฝั่งพม่ามาวางขาย

ก่อนผ่านแดนต้องทำ “บัตรผ่านแดน” เอกสารที่ต้องเตรียมคือ รูปขนาด 2 นิ้วจำนวน 1 ใบ และบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เตรียมไว้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเปิดเวลา 08.30 น. แต่ละวันมีคนมารอคิวมากในตอนเช้า ยื่นเอกสารและเสียค่าธรรมเนียมเล็กน้อย รอเรียกชื่อไปรับบัตรผ่านแดนมาเซ็นชื่อแล้วถ่ายเอกสารไว้ให้เจ้าหน้าที่ ส่วนตัวจริงถือไปใช้ผ่านแดน และผ่านด่านในประเทศพม่า

ระยะทางจากด่านพุน้ำร้อดนถึงเมืองทวายประมาณ 160 กม. เดือนมีนาคม พ.ศ.2559 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง เวลากับระยะทางไม่สัมพันธ์กันเพราะสภาพทางไม่ราบรื่น ทั้งเป็นถนนลูกรัง และต้องจอดเป็นระยะๆ ลงไปจ่ายเงินค่าผ่านทางให้กับชนกลุ่มน้อยและด่านของพม่า

ทราบกันโดยทั่วกัน ว่าเส้นทางพุน้ำร้อน-ทวาย บริษัทจากไทยเป็นผู้ทำ ชาวพม่าเป็นผู้ใช้ และชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เก็บเงินค่าผ่านทาง

...

หลุดด่านไทยมา ต้องแปลกใจเล็กๆ ว่าทำไมรถตู้ที่มารับคณะเยือนทวายต้องใช้แผ่นกระดาษผูกปิดป้ายทะเบียนด้วย เมื่อถามเจ้าหน้าที่ก็ได้คำตอบว่า ระหว่างชายแดนไทย-พม่า มีเขตรอยต่อ หรือเขตกันชน ต้องปลอดทหารและอำนาจของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นรถเมล์ที่แล่นไปมาต้องปิดแผ่นป้ายทะเบียนไว้ คล้ายแสดงความจริงใจ ว่าไม่ต้องการอ้างสิทธิ์ใดๆในพื้นที่

แต่แปลกที่รถส่วนบุคคลวิ่งเข้าออกโดยไม่ต้องปิดแผ่นป้ายทะเบียนได้

“เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางเศรษฐกิจครับ” ไกด์พม่าพูดไทยสำเนียงพม่าบอกขณะรถตู้เคลื่อนตัวออก “เปิดประตูจากไทยไปสู่พม่า อินเดีย และยุโรป คาดกันว่า ถ้าทำสำเร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยสู่โลกภายนอกดีขึ้น ถือเป็นสะพานบกเชื่อมไทยพม่าและประเทศคู่ค้าในแดนไกล”

สภาพทางช่วงออกจากชายแดนไทยเป็นราดยางอย่างดี แต่เมื่อเข้ามาเขตพม่า โดยเฉพาะบริเวณจุดผ่านแดน กลิ่นอายฝุ่นก็ฟุ้งกระจายเข้ามาทักทาย เจ้าหน้าที่ทัวร์เข้าไปยื่นเอกสาร คือบัตรผ่านแดนและเสียค่าธรรมเนียมเข้าพม่า

ตลาดข้างจุดตรวจคนเข้าเมืองพม่า ส่วนใหญ่มุงด้วยจาก กลางเดือนมีนาคมฝนยังไม่ตก ทำให้หลังคาเต็มไปด้วยฝุ่น ในร้านค้ายังมีของให้เลือกซื้อหาน้อย ใกล้ๆกันมีรถของบริษัทอิตาเลียนไทยจอดอย่างอุเบกขา ไม่สนใจฝุ่นที่จับหนาเตอะหรือคนไทยเข้ามาเยี่ยมเยือน

เลยจาก ตม.พม่า สองข้างทางป่าไม้รก ควันไฟเผาป่าลอยมาทักทายเป็นระยะ สภาพทางเป็นดินลูกรังฝุ่นคลุ้ง รถสวนมาคราใดเป็นต้องเปิดไฟแหวกม่านฝุ่นคราวนั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.เราก็เลียบเลาะแม่น้ำตะนาวศรี

ริมธารน้ำใสๆ ชาวกะเหรี่ยงกำลังร่อนทองกันอย่างขะมักเขม้น เครื่องมือร่อนมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1.เลียง หน้าตาเหมือนหมวกกะโล่ วิธีใช้คือ โกยดินหินทรายใส่เข้าไป ส่ายเลียงไปมาเบาๆ ไม่นานทองก็แยกออกมาจากวัตถุอื่นๆ เพราะน้ำหนักไม่เท่ากัน 2.ราง รางร่อนทองชาวบ้านตั้งขึ้นมาเป็นร้านสูง ทำรางลงจากร้านเหมือนบันไดลื่นของเด็กๆในสวนสาธารณะ เพียงแต่ว่า รางนั้นขยักเป็นขั้นๆ วิธีใช้คือ ตักเอาดินหินทรายในน้ำขึ้นมาปล่อยไว้ที่ต้นราง จากนั้นวิดน้ำใส่ท่อขึ้นมาราดตรงวัสดุที่ตักมา น้ำจะพัดพาวัตถุต่างๆ นั้นลงไปตามราง ทองจะค้างอยู่ตามขั้นต่างๆเหล่านั้น

ชาวบ้านที่ร่อนทองบอกว่า รายได้แม้จะดี แต่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับส่วนกลางของชนกลุ่มน้อยในอัตราสามชักหนึ่ง เช่น ถ้าได้ทอง 3 บาท ก็ต้องจ่ายให้ส่วนกลางไป 1 บาท เป็นต้น

แม้จะเป็นคนร่อนทอง ทำมาหากินอยู่กับทอง แต่อาศัยกระท่อมเล็กๆริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็น อาบน้ำ ดื่มน้ำ ซักผ้า และหาปลา ล้วนอาศัยแม่น้ำตะนาวศรีเป็นที่พึ่งพิง

ข้างทางริมแม่น้ำตะนาวศรีมีร้านค้าขายอาหารแบบชาวบ้าน ข้าวแกงแต่ละชนิดถ้านักอนุรักษ์เห็นเข้าคงต้องข่มน้ำตาหลายมิลลิลิตร เพราะแกงแต่ละชนิดล้วนเป็นสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นเลียงผา กวาง เก้ง อีเห็น ไก่ป่า และอีกหลายรายการ

คนที่อยู่ในป่าคืบก็ป่าศอกก็ป่า การหาของป่ามากินย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

รถแล่นเลาะแม่น้ำตะนาวศรีผ่านเขาสูงสลับต่ำ บางไหล่เขามีกล้วย ยางพารา และเมื่อใกล้ชุมชนก็มีดงหมากหนาแน่น หมากส่วนหนึ่งส่งไปอินเดีย เข้าโรงงานผลิตสี บางส่วนส่งเข้าเมืองต่างๆของพม่าเพราะคนยังกินหมากกันอยู่

เราผ่านหมู่บ้านมยิตตา หรือเมตตา ชาวบ้านปลูกหมากหนาตา มีร้านอาหารรองรับทัวร์ แต่ไม่มากนัก เราข้ามสะพานเหล็กที่อังกฤษสร้างไว้ บนแผ่นป้ายระบุปีสร้าง ‘ค.ศ.1915’ เทียบเป็น พ.ศ.ก็คือ 2458 สะพานแม้มีขนาดเล็กแต่แข็งแรง รถแล่นข้ามไปมาได้โดยไม่สั่นไหว

เราแวะรับประทานอาหารกลางวันที่หมู่บ้านหนึ่ง ชื่อแปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านภูเขาสามลูก อาหารส่วนใหญ่รสมันและจืด ราคาไม่สูงนัก สินค้าในร้านจำพวกขนมหวาน ผงซักฟอก ขนมกรุบกรอบ ปรากฏอักษรไทยชัดเจน แซมสินค้าจีนประปราย แสดงให้เห็นว่า สินค้าไทยเข้าไปตีตลาดได้ไม่น้อย

หลังอิ่มอาหารรสมันและจืด เราก็เดินทางต่อ ตลอดทางลองนั่งนับด่านเล่นๆ ก็ได้ข้อมูลจริงๆ ว่ามีถึง 7 ด่าน คือ 1.ด่าน ตม.ไทย 2.ด่าน ตชด.ไทย 3.ด่าน ตม.พม่า 4.ด่านกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) 5.ด่านกะเหรี่ยงเคเอ็นยู 6.ด่านกะเหรี่ยงเคเอ็นยู และ 7.ด่านกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

...

ด่านกะเหรี่ยงเคเอ็นยู คือด่านเจ้าของพื้นที่ แม้จะมีหลายแห่ง แต่การเก็บเงินไม่ได้ขูดรีด เจ้าหน้าที่บอกว่า รวมทุกด่านแล้วเฉลี่ยคนละ 100 บาท

เส้นทางจากพุน้ำร้อนถึงทวาย เดือนมีนาคม พ.ศ.2559 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชม.ส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรังฝุ่นคลุ้ง ข้างทางเต็มไปด้วยป่าเขา และวิถีชีวิตชาวบ้านทั้งกะเหรี่ยงและพม่า

ทั้งหมดยังนอนรอการพัฒนาอยู่ แต่ยามนี้ความหวังยังเปื้อนฝุ่น.