“กำจร” ชี้ไม่จำเป็นต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญ เดินหน้าดึง นร.กลับเข้าระบบ
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าจะลดการอุดหนุนจากเรียนฟรี 15 ปี เหลือ 12 ปี พร้อมทั้งสั่งการให้ ศธ.มาทำกฎหมายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม. 6 เหมือนเดิมนั้น ที่ผ่านมาโครงการเรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ เป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่กฎหมาย ซึ่งตนกำลังศึกษาว่าควรจัดทำเป็นกฎหมาย หรือกฎกระทรวงศึกษาธิการ โดยการมีกฎหมาย หรือกฎกระทรวงรองรับจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ว่า หลังจากนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาก็ต้องดำเนินการอุดหนุนการจัดการศึกษา 15 ปี ถึง ม.ปลาย รวมประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้วย ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ ) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในหมวดที่ 5 มาตรา 54 ระบุว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” นั้นก็ไม่ต้องไปปรับแก้ใดๆ เพราะถือเป็นการบังคับรัฐว่า ต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 ปี
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของการศึกษาภาคบังคับที่เป็นการบังคับประชาชนให้ส่งบุตรหลานที่อยู่ในปกครองเข้าเรียนนั้น เป็นการบังคับเรียน 9 ปี คือ ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 หรืออายุตั้งแต่ 7-16 ปี เพราะเมื่อเด็กจบ ม.3 หรือมีอายุ 16 ปีก็ถือว่าเด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว และบางครอบครัวก็มีความจำเป็นที่ต้องให้บุตรหลานออกไปช่วยทำงาน ดังนั้น หากจะให้มีการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาภาคบังคับมากกว่า 9 ปีก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนเด็กที่หลุดระบบการศึกษาในช่วงอายุ 7-16 ปีนั้น ศธ.กำลังเร่งช้อนเด็กกลับเข้าสู่ระบบ
...
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีภาคประชาสังคมได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีการทำประชามติในหมวดที่ 5 มาตรา 54 พร้อมทั้งระบุว่าหากไม่มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว กลุ่มผู้ปกครองนักเรียนอาจจะลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงอาจจะเป็นเหตุผลทำให้นายกฯสั่งการให้ ศธ.เร่งออกกฎหมายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 เหมือนเดิมในที่สุด.