(ภาพ: AFP)
รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประกาศแผนลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันแล้ว ท่ามกลางภาวะวิกฤติราคาน้ำมันโลกตกต่ำ จนประเทศผู้ผลิตได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะรัฐมนตรีของประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เห็นชอบแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายทำให้ประเทศถอยห่างจากการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน หลังจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ จนรายได้ของประเทศลดลง
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รองมกุฏราชกุมาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ทรงประกาศแผนปฏิรูป ซึ่งถูกเรียกว่า 'วิสัยทัศน์ 2030' (Vision 2030) ในวันจันทร์ที่ 25 เม.ย. ผ่านสถานีโทรทัศน์ อัล-อาราบิยา โดยพระองค์ตรัสว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเสพติดน้ำมัน โดยรายได้ของประเทศกว่า 70% มาจากน้ำมัน แต่แผนการนี้จะทำให้ซาอุฯ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากน้ำมันเป็นหลักภายในปี 2020
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมทั้ง การขายหุ้นสูงสุด 5% ของบริษัท 'อารามโก' รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมันต่อวันมากที่สุดในโลก ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2017 หรือ 2018 และก่อตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ จะมีระบบวีซ่าใหม่ อนุญาตให้ชาวมุสลิมและอาหรับที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ทำงานในซาอุดีอาระเบียได้นานขึ้น และรัฐบาลจะดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการลงทุนเหมืองแร่ และขยายการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งเพิ่มอัตราส่วนแรงงานหญิงด้วย
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงยืนยันว่า แผนการนี้ไม่เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ลดลงเกินครึ่งจากราคาสูงสุด 115 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือนมิ.ย. 2014 และแผนการนี้จะดำเนินต่อไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน
...
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาระบุว่า แผนการนี้ของซาอุฯ เป็นความพยายามที่มีผลกระทบกว้างไกล และเตือนด้วยว่า อุปสรรคใหญ่คือการนำแผนนี้ไปบังคับใช้จริง