ก็ดีใจกันใหญ่ เมื่อมีข่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอ ให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อม เพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ แต่เมื่อได้เห็นรายละเอียดแล้วก็ฝันค้างไปตามๆกัน เพราะไม่ได้มีผลทันทีในปีภาษี 2559 เหมือนการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ที่มีผลทันที แต่ต้องรอไปอีกหนึ่งปี ไปเริ่มในปี 2560 ทำไมไม่ใจดีให้ตลอดรอดฝั่งไปเลยก็ไม่รู้
การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ จึงไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้แต่อย่างใด
คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง แถลงว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น เมื่อต้องการอย่างนี้ก็น่าจะให้มีผลตั้งแต่ปี 2559 นี้เสียเลย จะได้สร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนมีกำลังใจที่จะใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อไป
แต่เมื่อให้มีผลในปี 2560 กว่าจะได้เห็นตัวเลขตอนยื่นภาษี ก็ปาเข้าไปปี 2561 มู้ดดีๆทั้งหลายก็สลายไปหมดแล้ว ถ้าเศรษฐกิจข้างหน้าไม่ดี สิ่งที่คาดก็อาจจะไม่เกิด
กลายเป็น เสียของ ไปอีก
เมื่อ รัฐมนตรีคลัง ตัดสินใจยอมเสียเงินภาษี 32,000 ล้านบาทในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้แล้ว ก็น่าจะให้มีผลใช้บังคับในปีนี้ทันที เหมือนกรณีลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ผมเชื่อว่าจะช่วยให้บรรยากาศเศรษฐกิจกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาแน่นอน เมื่อประชาชนทุกระดับมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น ผสมโรงกับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะทยอยเปิดประมูล ผมเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ 3% อย่างที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ต้องการแน่นอน
ไปสำรวจกันเสียหน่อยครับ การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ “มนุษย์เงินเดือน” จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
อันดับแรก การหักค่าใช้จ่าย เดิมให้หักแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 40% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ของใหม่ให้หักได้เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มปีละ40,000 บาท
...
อันดับสอง การลดหย่อน ผมคิดให้แบบมีคู่สมรสมีบุตร 3 คนครบเครื่องไปเลย รวมได้ค่าลดหย่อนเป็น 210,000 บาท เหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นจากเดิม 105,000 บาท
รวม 2 รายการ ได้ค่าลดหย่อนเพิ่ม 145,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาทนิดหน่อย ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว นี่ว่ากันเฉพาะมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับรายได้เพิ่มอื่นๆ ถ้าใครมีรายได้เสริม ก็ต้องไปคิดภาษีเพิ่ม
เมื่อนำค่าลดหย่อนไปหักออกจากเงินเดือนแล้ว ถ้าเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท กฎหมายยังยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียว แม้อัตราภาษีขั้นต้น 1-300,000 บาท จะต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ก็ตาม ไปเสียภาษีที่ 150,001 บาทขึ้นไป
การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ ชนชั้นกลางที่มีเงินได้ไม่เกินปีละ 2 ล้านบาท จะได้ประโยชน์เพียงลดหย่อนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้รับอานิสงส์ให้ลดภาษีแต่อย่างใด แต่ไป ลดภาษีให้ผู้มีเงินได้ระดับบนที่มีรายได้ตั้งแต่ 4–5 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมผู้มีรายได้เกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 แก้เป็น 2–5 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ลดลงร้อยละ 5 ส่วนผู้มีรายได้เกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 เท่าเดิม
ถ้ามองใน กลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยกัน อัตราภาษีไทย 5–35% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ภาษีไทยยังสูงกว่ามาก เช่น สิงคโปร์ขั้นแรก 500,000-750,000 บาท ภาษี 3.5% ขั้นสูงสุด 8 ล้านบาทขึ้นไป ภาษี 20% มาเลเซีย สูงสุด 26% อินโดนีเซีย สูงสุด 30% มีแต่ เวียดนาม ที่มีอัตราภาษีสูงสุด 35% เท่าไทย
ก็เลยงงๆว่าการปรับภาษีครั้งนี้ รัฐบาลไม่ต้องการปรับลดความเสียเปรียบด้านการแข่งขันด้วยหรือ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”