ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา
10 ปีที่โครงการขับเคลื่อนมาโดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว ซึ่ง บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำขึ้น จนปัจจุบันมีเครือข่ายเข้าร่วมแล้วใน 195 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 100 ชุมชน และ 248 โรงเรียนใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ด้วยความมุ่งหวังขยายเครือข่ายสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชุมชนและโรงเรียน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้โครงการมีการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเพื่อผลักดันให้ผู้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย การลดปริมาณขยะ การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การเดินทางอย่างยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการอนุรักษ์น้ำ และการใช้วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
และล่าสุดช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทีมที่ผ่านการเฟ้นจากโครงการที่มีผลการดำเนินกิจกรรมดีเด่น สำหรับปีที่ 11 ประจำปี 2558 ก็ได้เดินทางไปต่อยอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ประเภทโรงเรียน รางวัลชนะเลิศ คือ ร.ร.อัสสัมชัญธนบุรี จากผลงาน “โครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ACT Sustainable Energy Efficiency” รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นของ ร.ร.นางัวราษฎร์รังสรรค์ อ.นาหว้า จ.นครพนม กับ “โครงการ NGS ร่วมใจภักดิ์ รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม ตามรอยพ่อ” และรองชนะเลิศอันดับสอง ร.ร.ดาราวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กับ “โครงการร่วมใจ ลดเมือง ร้อนด้วยมือเรา”
ประเภทชุมชน รางวัลชนะเลิศ เป็น “โครงการสังคมหนองสะแกกวนแบบพอดี สู่ชีวีคาร์บอนต่ำ” โดย ชุมชนบ้านหนองสะแกกวน และเทศบาลตำบลโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “โครง-การม่วงชุมร่วมใจ แก้ไขโลกร้อน” โดย ชุมชนบ้านม่วงชุม และเทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และรองชนะเลิศอันดับสอง “โครงการลูกพระธาตุรวม ใจ คืนผืนไพร คืนน้ำใส ใส่ ใจพลังงาน”
...
โดย ชุมชน บ้านหนองปลาดุก หมู่ 22 และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม มีโอกาสเดินทางร่วมคณะพร้อมกับทั้งคณะครู นักเรียนและตัวแทนชุมชนไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม โดยได้เข้าชมกระบวนการเผาขยะของ โรงงานเผาขยะเขตโอตะแห่งเมืองโตเกียว ซึ่งมีการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดจนเกินมาตรฐานสากล ทั้งยังนำความร้อนจากการเผามาผลิตไฟฟ้า นำขี้เถ้าไปใช้ประโยชน์ ต่อจากนั้นยังได้เข้าชม ศูนย์การจัดการขยะของเมืองโตเกียว เรียนรู้กระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การนำขยะที่เหลือใช้ไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกิจกรรมที่ สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาวาโก เรียนรู้การประหยัดพลังงานผ่านกิจกรรมต่างๆ
เป้าหมายเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์องค์ความรู้ที่มีค่า ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมต่างสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแดนซามูไร และพร้อมนำสิ่งดีๆที่ได้รับกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง
“ทุกวันนี้ภาวะโลกร้อนเกิดผลกระทบต่อสรรพสิ่งต่างๆ มากมาย ต้นเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันหาวิธีแก้ไขและรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องรับบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้รักษา ขณะที่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของโลกก็ต้องสาน ต่อในการเป็นผู้รักษาสิ่งเหล่านี้สู่รุ่นต่อรุ่นให้เกิดความยั่งยืน” นายมานะ ชูขันทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ย้ำถึงความมุ่งมั่นของโครงการ
หันมาฟังเสียงสะท้อนของผู้ร่วมโครงการ นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนน–ดินแดง ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทชุมชน แจกแจงว่า “ขยะเป็นปัญหาใหญ่ในเทศบาล จึงเริ่มจริงจังแก้ปัญหาในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการแยกขยะนำร่อง 3 หมู่บ้านจากทั้งหมด 12 ชุมชน หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านหนองสะแกกวน ทำให้ทั้งหมู่บ้านมีการคัดแยกขยะ 100% นอกจากนี้ยังรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การปลูกผักสวนครัว และการปลูกป่านิเวศน์ พร้อมตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะทำครบทั้ง 12 หมู่บ้าน ขณะนี้ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก การแก้ปัญหาที่ดีคือการปลูกป่าที่สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุด จึงอยากให้หันมาตระหนักและเห็นความสำคัญเรื่องป่าไม้ให้มากขึ้น”
...
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยอย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเปิดประสบการณ์ให้ผู้คนในสังคมร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง พร้อมต่อยอดขยายเครือข่ายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการสนับสนุนของภาคธุรกิจเอกชน เพราะหากมัวหวังแต่จะพึ่งภาครัฐเพียงส่วนเดียวคงไม่สามารถเยียวยาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ได้อย่างแน่นอน
และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสังคมยุคใหม่ว่าความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ ท่ามกลางการแข่งขัน สามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับการตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนบนโลกใบนี้.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม