ที่ประชุม สนช. มีมติ 153 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับใหม่ ให้จัดทำแผนระดับชาติ รองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 59 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า สถานการณ์ความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับมิติด้านต่างๆ และมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยที่กลไกความมั่นคงที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจ และการบริหารนโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ แจ้งเตือนสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม หรือประกาศสถานการณ์ภัยคุกคาม จึงต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับบี้ มีการกำหนดนิยามคำว่า ความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและภัยคุกคาม เพื่อกำหนดขอบเขต วัตถุประสงค์และกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคง ปรับปรุงองค์ประกอบของ คณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากเดิม 9 คน เป็น 11 คน โดยเพิ่ม รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ รมว.กระทรวงยุติธรรม เนื่องจาก ทั้ง 2 กระทรวง มีความเกี่ยวข้องเรื่องภัยคุกคามด้านไซเบอร์และความยุติธรรม และกำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำแผนนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาในกิจการด้านความมั่นคงให้กับคณะรัฐมนตรี จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกได้อภิปราย ซึ่งสมาชิกเห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

...

โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโยกย้ายแต่งตั้ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มักจะถูกแทรกแซง และใช้อำนาจทางการเมืองโยกย้าย โดยยกตัวอย่างกรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ว่าจะมีมาตรการใดๆ ในการป้องกันการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ นางสุรางคณา วายุภาพ ได้สอบถามเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ ที่นับวันจะมีความรุนแรงซับซ้อนมากขึ้น แต่ประเทศยังไม่มีการบูรณาการด้านการควบคุมป้องกัน ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะ แม้ว่าขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็อยากให้มีเขียนให้ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดช ได้รับข้อสังเกตของสมาชิกไปปรับปรุงแก้ไข ในชั้นกรรมาธิการฯ ต่อไป ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พิจารณา ด้วยคะแนน 153 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน