15 ปีที่แล้ว ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกไปเดินในเขตต่างๆของบรูไน มีคนไทยทักทายเสียงเซ็งแซ่ สมัยนั้น เศรษฐกิจของบรูไนดีมาก เงินจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไหลเข้าประเทศจนใช้ไม่ทัน แรงงานไทยในบรูไนมีประมาณ 30,000 คน
20-24 กุมภาพันธ์ และ 26-28 มีนาคม 2559 พวกเราไปบรูไน กันอีก 2 รอบ พบว่าความเงียบเหงาเข้ามาเกาะกิน ทำให้บรูไนไม่เหมือนก่อน เศรษฐกิจไม่อู้ฟู่หรูหรา เพราะราคาน้ำมันตก บรูไนเป็นประเทศที่เอาไข่ไปใส่ตะกร้าใบเดียว ผมหมายถึงรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาตก ก็กระทบกับเศรษฐกิจอย่างแรง
15 ปีที่แล้ว พวกเราสนทนากับข้าราชการคนสำคัญของประเทศ ท่านก็มีคำตอบเรื่องเมื่อน้ำมันหมด อนาคตของบรูไนจะเป็นอย่างไร รัฐบาลบรูไนมีนโยบายทำให้บรูไนมีเศรษฐกิจหลากหลาย แต่ทว่า นโยบายนั้นนำมาใช้ไม่ทันครับ เพราะน้ำมันราคาตกก่อนที่การพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ทำอาชีพอย่างอื่น
ไม่ใช่บรูไนเพียงประเทศเดียวดอก แม้แต่เวเนซุเอลาตอนนี้ก็ลำบาก ก่อนหน้าที่จะเจอน้ำมัน คนเวเนซุเอลาปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูก กาแฟ และโกโก้ โกโก้ของเวเนซุเอลาเคยยิ่งใหญ่ขนาดครองตลาดโลก แต่หลังจากเจอน้ำมัน รัฐบาลของประเทศนี้ก็เอาเศรษฐกิจของตนไปพึ่งการผลิตและส่งออกปิโตรเลียม ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีมากกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด เมื่อราคาน้ำมันร่วง คนเวเนซุเอลาทั้งประเทศก็ลำบากมาก
ไม่นานมานี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาออกกฎหมายกำหนดให้กิจการการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเป็นของรัฐบาล เอกชนไม่สามารถถือหุ้นในกิจการน้ำมันได้เกินกว่าร้อยละ 50 เมื่อราคาน้ำมันร่วงก็กระทบรายได้รัฐบาล และกระทบต่อไปถึงประชาชน ตามห้างสรรพ-สินค้าของเวเนซุเอลาว่างเปล่า เพราะไม่มีเงินไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาให้ประชาชนบริโภค ประชาชนผลิตเองไม่เป็น แม้แต่กาแฟและโกโก้ที่เคยเป็นอันดับต้นๆของโลก ตอนนี้ก็ผลิตได้เพียงร้อยละ 1 ของปริมาณกาแฟโลก และใช้เพื่อการบริโภคภายในเวเนซุเอลาเองเท่านั้น
...
ผมเพิ่งอ่านบทความชิ้นหนึ่งถึงความทุกข์ของคนงานในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับค่าจ้างมานานหลายเดือนแล้ว เช่น บริษัทก่อสร้างอันดับต้นๆของประเทศ กลุ่มก่อสร้างฮาริรี ที่ก่อตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอน นายรอฟิก ฮาริรี (ถูกฆาตกรรมเมื่อกุมภาพันธ์ 2548) หลังจากบิดาถูกระเบิดตาย ก็ให้ลูกชายเป็นผู้ดำเนินการต่อ
อีกบริษัทหนึ่งซึ่งผมอ่านเจอก็คือ Saudi Oger ที่มีคนงาน 50,000 คน จากมากมายหลายสัญชาติ พนักงานคนหนึ่งของบริษัทนี้ออกมาเปิดเผยว่า...the salaries of nearly all have been delayed. เงินเดือนเกือบจะของทุกคนล่าช้า...at six months without a pay cheque, I am among the longest suffering. คนงาน คนนี้สื่อว่า หกเดือนแล้วตนเองยังไม่ได้รับค่าจ้าง “I don’t have money.” ผมไม่มีเงิน “It’s hard.” ลำบากมาก
กลับมาเรื่องของประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างบรูไนดีกว่าครับ ด้านลบของบรูไนก็คือเศรษฐกิจไม่ดี ด้านบวกของบรูไนคือ ตราฮาลาลของ บรูไนแข็งแรงมาก น่าจะแข็งแรงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่คนบรูไนผลิตสินค้าไม่เก่ง นี่เป็นโอกาสที่คนไทยน่าเข้าไปผลิตที่บรูไนเพื่อการส่งออกไปยังตลาดมุสลิมสองพันกว่าล้านคนทั่วโลก
ด้านบวกอีกอย่างหนึ่งก็คือ บรูไนเป็นสมาชิกทีพีพี ซึ่งประกอบไปด้วย 12 ประเทศสำคัญ มีประชากร 820 ล้าน เป็นร้อยละ 38 ของจีดีพีโลก หากใครไปตั้งฐานผลิตที่บรูไน ก็สามารถจะส่งออกสินค้าด้วยภาษีเป็น 0 ไปยังแคนาดา สหรัฐอเมริกา เปรู ชิลี เม็ก-ซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
เมื่อคิดถึง ฤทธิ์ของ “ตราฮาลาลบรูไน”+“ทีพีพี” ก็ขอเรียนว่าบรูไนเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากกว่าประเทศผลิตน้ำมันรายอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย หรือแม้แต่เวเนซุเอลา
โอกาสของคนไทยมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่บางประเทศอยู่ไกล จะบินไปกลับดูธุรกิจเสียเวลามาก บรูไนเป็นประเทศใกล้ บินจากประเทศไทยเพียงแค่สองชั่วโมงกว่าก็ถึงแล้ว เพราะเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกัน คนไทยไปบรูไน คนบรูไนมาไทยไม่ต้อง ใช้วีซ่า นึกอยากจะเดินทางก็ไปได้เลย เดินทางได้ทุกวัน
หลายประเทศเริ่มตัดมือไทย เช่น อเมริกาจับเราอยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 3 ที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ สหภาพยุโรป 28 ประเทศ ก็ตัดจีเอสพี เราไป 6,200 รายการ ฯลฯ
เราต้องช่วยกันดิ้นรนหาช่องทางให้คนไทยครับ
อยู่เฉยๆ มีแต่ตายลูกเดียว.