ปัจจุบันแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit MasterPlan in Bangkok Metropolitan Region: M–MAP)สำหรับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้า (ปี 2553–2572) มีทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 495 กม. เป็นโครงข่ายสายหลัก 8 เส้นทาง และโครงข่ายสายรอง 4 เส้นทางโครงข่ายสายหลัก ประกอบด้วย โครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง2 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตลิงก์ 1 เส้นทาง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 5 เส้นทาง ส่วนโครงข่ายสายรอง 4 เส้นทาง ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนแม่บทได้อย่างเต็มที่ ทั้งเพราะงบลงทุนจำกัด และความซ้ำซ้อนหน่วยงานรับผิดชอบ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2559 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2559 มีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน จึงมีมติเร่งผลักดันระบบขนส่งมวลชนเดินหน้าตามแผนแม่บทให้เกิดเป็นรูปธรรมเด่นชัดยิ่งขึ้น
เริ่มจากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต และ แบริ่ง–สมุทรปราการ คจร.มีมติโอนโครงการให้ กทม.ดูแล เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ กทม.ดูแลอยู่และให้จ่ายคืนค่าก่อสร้างที่ รฟม.ลงทุนไปทั้งหมด โดยให้ทำเป็นบันทึกข้อตกลง (MOU) เป็นหลักฐาน คาดว่าลงนามได้เดือน เม.ย.นี้
ที่ประชุม คจร.ยังเห็นชอบการต่อขยายแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ออกไป 5 กม.โดยไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยมีสถานีเพิ่ม2สถานี คือ พระประแดง และครุใน (สุขสวัสดิ์ 70)
ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้างโรงจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ปรับปรุงรายละเอียดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สถานีสามยอดและสถานีผ่านฟ้า
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาของกรุงเทพ-มหานคร ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอสช่วงบางหว้า–ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. และโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรอง 3 สาย ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีเทา (MonoRail)ซึ่ง กทม.เสนอปรับปรุงเส้นทางเดิมจากวัชรพล–พระราม 9 เป็น วัชรพล–ท่าพระ
...
2.รถไฟฟ้าสายสีทอง (MonoRail) เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก 3.รถไฟฟ้าสายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (LightRail) ระยะทาง 18 กม. ยกระดับตลอดสาย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาว่าโครงข่ายทั้งหมดมีผลกระทบหรือเสริมต่อระบบหลักเดิมอย่างไร เช่น รถไฟฟ้าสายสีเทา ให้ประสานการดำเนินงานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือที่มีแนวเส้นทางใกล้เคียงกัน
เท่ากับว่าตั้งแต่นี้ไป กรุงเทพมหานครจะสามารถเดินหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ศึกษามาเองต่อไปได้ เนื่องจากได้ไฟเขียวจากรัฐบาลโดย คจร.แล้วในครั้งนี้!!!!