พ.ศ.2495 ตั้ง “สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทยจำกัดสินใช้”พ.ศ.2518 เปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศ ไทย จำกัด” ปัจจุบันชุมนุมมีสมาชิกครอบคลุมสหกรณ์การเกษตร 3,900 แห่ง 6,000,000 ครัวเรือน ถ้านับเป็นจำนวนผู้คนที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับชุมนุมฯ ก็น่าจะมีมากกว่า 24 ล้านคน

พ.ศ.2559 ชุมนุมฯ เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ไปพูดให้สมาชิกฟังทั่วประเทศหลายครั้ง ที่พูดไปแล้วก็มีที่เชียงใหม่และสุพรรณบุรี สำหรับพุธ 24 กุมภาพันธ์ 2559 พี่น้องเกษตรกรกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และสุโขทัย 15.00-17.00 น. พบกับ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ ได้ที่โรงแรมอัมรินทร์ลากูน พิษณุโลก ครับ

เกษตรกรสมัยนี้กระหายใคร่รู้เรื่องความตกลงสินค้าเกษตรภายใต้ GATT การค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก ต้องการให้คนพูดพูดถึงมาตรการควบคุมราคาภายในประเทศ มาตรการทาง การค้าเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ การใช้มาตรการอุดหนุน การใช้มาตรฐานสุขอนามัย ฯลฯ

ความสนใจในความเป็นความตายของสินค้าและอาชีพตนเองไม่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงสินค้าเกษตรเท่านั้น วันนี้การแข่งขัน เกิดขึ้นสูงมาก แม้แต่ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าไม่รู้เรื่องทวิภาคี และพหุภาคี ไม่สนใจเรื่องการทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ก็ไม่สามารถยืนอยู่ในอุตสาหกรรมของตนเองได้

สัปดาห์ที่แล้ว เราเห็นข่าวคนงานอุตสาหกรรมเหล็กยุโรป5,000 คน ประท้วงที่หน้าสำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อขอให้สหภาพยุโรปป้องกันไม่ให้จีน ทุ่มตลาดเหล็ก เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2551 เหล็กราคาถูกของจีนไหลเข้า มาในยุโรป ทำให้ราคาเหล็กทรุด ทำให้คนตกงานไป 85,000 คน หรือ 20% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมเหล็กยุโรป

...

จีนทุ่มตลาดด้วยการส่งสินค้าของตัวเองไปจำหน่ายในราคาต่ำมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่โดนทุ่มตลาดพัง สิ่งที่จีนมุ่งหวังตั้งใจก็คือ ส่งสินค้าราคาถูกไปทุ่มตลาดเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน เมื่อคู่แข่งขันตายหมดแล้ว จีนก็จะเป็นผู้ผูกขาดในตลาด จีนจะขายอยู่เพียงเจ้าเดียว คราวนี้ จีนจะตั้งราคาสูงเท่าใดก็ได้

ทุกครั้งที่จีนผลิตสินค้าออกมาเกินความต้องการ ถ้าไม่เอาออกมาขาย สินค้าพวกนั้นก็ถูกกองไว้เฉยๆ ถ้าท่านตามเรื่องสินค้าจีนอย่างละเอียด ก็จะเห็นว่าหลายครั้ง จีนโยนสินค้าที่ตัวเองไม่ต้องการ ไปทิ้ง ในตลาดของประเทศอื่น ในราคาที่แสนถูก

สมัยก่อน จีนต้องการเงินสกุลแข็ง จีนก็ใช้วิสาหกิจของรัฐจีนผลิต สินค้าออกไปทุ่มตลาดตามประเทศต่างๆ เพื่อเอาเงินสกุลแข็งเข้าประเทศของตัวเอง

อุตสาหกรรมในประเทศที่โดนจีนทุ่มตลาด....ยอดขายจะลด กำไรลด ผลผลิตลด ส่วนแบ่งการตลาดลด กำลังการผลิตลด ผลตอบแทนในการลงทุนลด ราคาในประเทศลด การจ้างงานลด ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมลด ฯลฯ

สุดท้าย อุตสาหกรรมนั้น ในประเทศนั้น ก็พัง

เกาหลีใต้นี่ก็เคยใช้วิธีบุกด้วยการทุ่มตลาดมาก่อนนะครับ เคยส่งรถยี่ห้อฮุนไดเข้าไปขายในแคนาดาในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายในเกาหลี 22% ทำให้บริษัทเจเนรัล มอเตอร์ส แคนาดา และบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ส แคนาดา ขายรถยนต์ของตัวเองไม่ได้

สองบริษัทนี่จึงร้องให้กรมสรรพากรแคนาดาเก็บภาษีรถฮุนได รุ่น Pony เพิ่ม 18.9% รุ่น Stellar เพิ่ม 25.1% และรุ่น Excel เพิ่ม 21.4% การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของกรมสรรพากรแคนาดา เก็บภาษีรุ่น Pony เพิ่ม 31.8% รุ่น Stellar เพิ่ม 30.1% และรุ่น Excel เพิ่ม 16.2%

บริษัททั้งสองยื่นเอกสารประกอบคำร้องฟ้องฮุนไดเต็มคันรถบรรทุก เอกสารและข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากแดวูซึ่งเป็นบริษัทเกาหลีใต้ที่ร่วมลงทุนกับเจเนรัล มอเตอร์ส

ฮุนไดไม่ยอมยื่นเอกสารแก้ต่างเลยแม้แต่แผ่นเดียว เพราะไม่อยากให้คนอื่นรู้กลยุทธ์การตลาดที่ตนเองจะทำในตลาดอเมริกาเหนือ ฮุนไดมองว่า หากบริษัทผู้ร้องรู้ข้อมูล ก็อาจจะไปสกัดการทำตลาดของฮุนไดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าแคนาดาถึง 10 เท่า ในมุมมองของฮุนได การมอบเอกสารให้กรมสรรพากรแคนาดาเป็นการประหารชีวิตบริษัทฮุนไดของตน สู้ฟังคำวินิจฉัย และจ่ายอากรตอบโต้ในอัตราที่สูงมากดีกว่า

ย้อนกลับมาเรื่องการทุ่มตลาดเหล็กอีกครั้งหนึ่งครับ จีนเข้าไปกวนในตลาดหลายแห่งทั่วโลก และใช้สินค้าเหล็กและสินค้าตัวอื่นทุ่มตลาด

รัฐบาลบางประเทศสู้ ผู้ผลิตภายในก็ยังอยู่รอด

รัฐบาลบางแห่งไม่สู้ ผู้ผลิตภายในก็ล้มทั้งยืน.

คุณนิติ นวรัตน์
songlok@outlook.co.th  
www.nitipoom.media  
www.facebook.com/nitipoom.thailand