วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ คว้ารางวัลอันดับที่ 1 "เครื่องพาสเจอไรซ์น้ำผลไม้ปรุงแต่งรส "สุดยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมโครงการ "พลังอาชีวะเพื่ออาชีพ" สร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ หนุนอาชีพของชุมชน
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 นายบุญเลิศ สัสสี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงานการแข่งขันผลงานการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "พลังอาชีวะ เพื่ออาชีพ" รอบสุดท้ายของภาคอีสาน ซึ่งผลงานประดิษฐ์จะต้องนำไปใช้ได้จริง ช่วยเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ต่อไป ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 3 ชิ้นที่เข้ารอบนี้จะนำไปมอบให้กับชุมชน
ผลการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนำเสนอผลงานได้เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เครื่องพาสเจอไรซ์น้ำผลไม้ปรุงแต่งรส จากวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท อันดับ 2 ได้แก่ เครื่องกวักเส้นไหมและเส้นฝ้ายมีระบบปั่นหลอดด้ายในตัว จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท และอันดับ 3 ได้แก่ ระบบผลิตถั่วลิสงป่นครบวงจรสำหรับชุมชนทำไร่ถั่วลิสง จากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี รับทุนการศึกษา 20,000 บาท โดยหลังเสร็จสิ้นการประกวดสิ่งประดิษฐ์ นักศึกษาจะนำผลงานที่เข้าประกวดส่งมอบให้กับชุมชนนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนต่อไป และทีมที่หนึ่งจะเข้าสู่รอบการแข่งขันระดับประเทศ เพื่อหาทีมชนะเลิศต่อไป
...
ด้าน นายธนะกิจ ชินปัญจพล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินค้าเครื่องดื่มเอ็ม-150 เปิดเผยว่า เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของน้องๆ นักศึกษาทุกคน ที่จะนำความรู้ความสามารถในสายอาชีวะ มาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันมีการผลักดันให้นักเรียน นักศึกษานำความรู้มาผสมผสานกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง จนเกิดสิ่งประดิษฐ์มากมาย เพียงแต่การสนับสนุนอาจยังมีไม่เพียงพอ ทางบริษัทฯ จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้แสดงผลงาน และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมได้อย่างเต็มที่ และเป็นปีแรกที่จัดทำโครงการฯ และได้รับการตอบรับจากน้องๆ ที่ศึกษาในระดับอาชีวศึกษาดีเกินคาด เพราะนอกจากทุนในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และทุนการศึกษาที่นักศึกษาจะได้รับแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของเยาวชนจากสถาบันต่างๆ รวมถึงจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละแขนง ซึ่งความรู้ที่ได้รับเหล่านี้จะต่อยอดให้กับนักเรียน นักศึกษา ได้นำไปใช้ประโยชน์บนเส้นทางสายอาชีพในอนาคต อีกทั้งเยาวชนไทยทุกคนพร้อมจะเติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง หากได้รับโอกาสและการสนับสนุน