"องอาจ คล้ามไพบูลย์" ติงให้ 3 องค์กรทักท้วงนโยบายรัฐ ไม่จำเป็น จี้ปม นายกฯ คนนอก กาบัตรใบเดียวไม่ตอบโจทย์ ขอบัญญัติหลัก 4 ประการ ยังไม่ฟันธง ปชป. จะรับหรือไม่รับร่างฯ ขอดูเนื้อหาก่อน ...

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 มกราคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างเเรก ของ กรธ.ว่า เนื้อหาสาระมีทั้งส่วนดียอมรับได้ และส่วนที่ต้องแก้ไขที่ยอมรับได้ คือ พยายามหาทางป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน วางมาตรการตั้งแต่ การกลั่นกรองบุคคลจะเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พยายามป้องกันเรื่องเสียงข้างมากลากไป แต่ตนขอทักท้วงให้ปรับปรุงเรื่องการบัญญัติให้ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทักท้วงเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลได้ ไม่น่าจะจำเป็น เพราะทั้ง 3 องค์กรนั้นดำเนินการแยกกันได้ ส่วนที่ไม่บัญญัติให้ตัวแทน ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น อยากให้บัญญัติลงไปด้วย เพราะอาจเกิดความไม่เป็นกลางระหว่างพิจารณากระทู้ตรวจสอบรัฐบาล

นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่เปิดทางให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 คน นายกฯ มาจากคนนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ ตามหลักการประชาธิปไตย ผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐควรจะมีส่วนยึดโยงประชาชน และเดิมที่เงื่อนไขที่ทาง กรธ. อ้างว่า การที่ให้มีนายกฯ คนนอกนั้น มีเหตุผลเรื่องการเข้ามาแก้ไขสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง แต่ในร่างแรกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับเปิดทางให้เข้ามาได้ตามกระบวนการปกติ ขอให้ กรธ.อธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจนด้วย ส่วนเรื่องการเลือกตั้งบัตรใบเดียว อาจเกิดปัญหาซื้อเสียงมากขึ้น ประชาชนไม่สามารถแสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนในการไปเลือกตั้งได้ เมื่อ กรธ.แยกให้มีทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ก็ควรจะบัญญัติหลักการเพื่อไม่ให้ประชาชนไม่สบายใจเวลาไปใช้สิทธิ์

นายองอาจ กล่าวว่า กรธ. ควรจะคำนึงถึงสาระสำคัญ 4 ประการก็คือ 1. การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจรัฐ 2. ควรกำหนดกลไกการใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม 3. ควรจะสร้างระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง 4. การสร้างกลไกถ่วงดุลระหว่างสามเหลี่ยมอำนาจให้เกิดขึ้น ยังสงวนท่าทีรับไม่รับ รธน.

"ตอนนี้มีคนถามพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังคิดว่าเร็วไปที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับร่าง ต้องดูเนื้อหาสาระก่อน ควรจะพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน อยากจะให้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ระวังท่าที ที่ระบุว่า ถ้ามีเวลา ร่างรัฐธรรมนูญจะโหดกว่านี้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่เกิดประโยชน์ จะเกิดปัญหาโดยไม่จำเป็น นายมีชัย ต้องพยายามทำให้สังคมเข้าใจ หวังว่าหลังจากนี้คงจะไม่เห็นท่าทีของ กรธ.ที่ออกมาในเชิงข่มขู่หรือชี้นำอีก" นายองอาจ กล่าว.

...