เมื่อ 2 วันก่อน กระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงถึงสถานการณ์การค้า ระหว่างประเทศของไทยประจำปี 2558 ระบุว่ามูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 5.78 ถือเป็นการลดที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี
ฟังดูแล้วก็น่าเป็นห่วง และมีการนำมาแสดงความคิด แสดงความห่วงใยถึงอนาคตในปีนี้ (2559) และปีหน้า (2560) ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง?
การส่งออกเป็นรายได้สำคัญของประเทศ เมื่อการส่งออกลดลง ย่อมจะมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้าส่งออกประสบความเดือดร้อน
อาจจะมีการลดปริมาณการผลิต มีการปิดโรงงาน มีการลดการจ้างงาน ฯลฯ มีผลตามมาเป็นลูกโซ่
หรือในกรณีสินค้าเกษตรกรรม ก็จะมีผลถึงตัวเกษตรกรที่ประสบภาวะขายสินค้าไม่ออก ขายได้ก็ราคาต่ำ ไม่คุ้มทุน ไม่พอใช้หนี้ ต้องเป็นหนี้เป็นสินหนักขึ้นไปอีก
ยิ่งเมื่อมองถึงปีนี้ (2559) ซึ่งคาดกันว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของเราอย่างจีน อย่างญี่ปุ่น คาดว่าจะไม่ดีเลย ผลกระทบที่จะมีมาถึงเรา จึงคาดกันว่าไม่น่าจะน้อยไปกว่าเดิม
หลายๆคนชักเริ่มใจเสีย และเริ่มมองโลกในปีนี้และปีหน้าแบบท้อถอย
มีบางคนเริ่มใช้คำพูดว่า ปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้จะเผาจริง
สำหรับผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นมาตลอดว่า เศรษฐกิจไทยเราไม่มีวันล้มตาย อาจจะซบเซาไปบ้าง บาดเจ็บบ้าง แต่ไม่ตายแน่นอน เพราะฉะนั้น จะไม่มีเผาใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าเผาจริงหรือเผาหลอก
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นโครงสร้างที่มีระบบคุ้มกันอยู่ในตัว ที่เขาเรียกกันว่า “ระบบเศรษฐกิจอันหลากหลาย” หรือทำอะไรหลายๆอย่าง ผลิตหลายๆอย่าง ค้าขายหลายๆอย่าง ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยจึงประกอบด้วยกิจกรรมหลายๆอย่าง มิได้พึ่งพาสาขาเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งมากจนเกินไป
...
หรือแม้แต่การส่งออกของไทยที่เป็นรายได้หลักตัวหนึ่งของประเทศ ก็มีโครงสร้างอันหลากหลายเช่นเดียวกัน
ลองดูรายละเอียดที่ท่านผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ท่านแถลงข่าวก็ได้ครับ จะเห็นว่าสินค้าออกหลักๆของเรามีเป็นสิบๆชนิด
หลายๆอย่างอาจจะร่วงหล่นลงมา ทั้งราคาและปริมาณ แต่ก็มีอีกหลายๆอย่างเช่นผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, ไก่แปรรูป, อัญมณี เครื่องประดับ ฯลฯ ยังคงเพิ่มอยู่
แน่นอนบังเอิญส่วนที่ตกมีมากกว่าเพิ่ม ในภาพรวมเราจึงติดลบเกือบๆ 6 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น
แต่ถ้าหากประเทศเราพึ่งสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่อย่าง (เช่นสมัยก่อนตอนเราเด็กๆ พึ่งแค่ข้าว, ไม้สัก, ยางพารา และดีบุก) ถ้าเป็นแบบนั้นเราต้องแย่แน่นอน เพราะสินค้าที่ว่าราคาตกทุกๆตัว
เนื่องจาก 30 กว่าปีที่ผ่านมาเราพัฒนาประเทศจนเกิดความหลากหลายในทุกๆเรื่อง รวมทั้งสินค้าออกด้วย ดังนั้น แม้รายได้จากส่งออกจะตกมากกว่าเพิ่มดังเช่นปีนี้ แต่ผลลัพธ์ก็คือ เราตกแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ (เท่านั้น) พอจะกัดฟันรับได้ละน่า
ถ้ามองในมุมบวกก็จะมองได้อย่างนี้
ผมจึงอยากให้สู้ต่อไป ใครที่ตกก็พยายามช่วยตัวเองบ้าง ให้รัฐบาลช่วยเท่าที่จำเป็นบ้าง เปลี่ยนสินค้าบ้าง พัฒนาสินค้าเพื่อให้ขายได้มากขึ้นบ้าง รวมไปถึงหาทางเพิ่มตลาดบ้าง...ไปไกลไม่ได้ก็หันมาใกล้ๆ เจาะตลาดข้างบ้านเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านไว้ก่อน
ส่วนสินค้าของใครที่ยังขึ้นยังขายดีก็ขอให้ลุยต่อเพื่อให้ได้ดีขึ้นไปอีก จะทำให้มีรายได้เข้ามาพยุงเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ ไม่ให้ตกตํ่าจนเกินไป หรืออาจจะกลายเป็นบวกเลยก็ได้ในปลายปีนี้
ที่แล้วมาเราเคยเซจนเกือบทรุดถึง 2 ครั้ง สมัยป๋าเปรมที่เซหนักจนปู่สมหมาย ฮุนตระกูล ต้องลอยค่าเงินบาท แต่ในที่สุดเราก็ฟื้นได้อย่างรวดเร็ว
สมัยบิ๊กจิ๋ว พ.ศ.2540 เจอโรคต้มยำกุ้งหนักกว่าอีก นึกว่าไปแน่ๆ แต่ด้วยความหลากหลายของเศรษฐกิจที่ไปก็ไป แต่ที่ยังอยู่ได้ก็ยังอยู่ ในที่สุดก็ประคองประเทศไว้ได้...และเราก็ฟื้นกลับมาในเวลาไม่นาน
นี่คือเกราะคุ้มภัยเศรษฐกิจ ที่เรียกว่าความหลากหลายของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเราสร้างขึ้นไว้ และก็ยังคุ้มครองเราอยู่แม้จนบัดนี้ครับ.
“ซูม”