"อนุสรณ์" ตอก "สรรเสริญ" ไม่ดูข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจ เตือนหยุดใส่ร้ายป้ายสี แนะกลับไปศึกษาย้อนหลัง ชี้ รบ. ต้องเปิดฟังรอบด้าน อย่ายึดติดแนวคิดโบราณ ท้า "สมคิด" ออกชี้แจงปม "พิชัย" พูดติง ศก. รัฐบิดเบือนตรงไหน

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 59 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปร่วมงานของสภาคองเกรสตามคำเชิญ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โฆษกรัฐบาลไม่มีความเข้าใจทางเศรษฐกิจเลย จึงอยากแนะให้กลับไปอ่านย้อนหลังทุกเรื่อง ที่นายพิชัยได้ท้วงติงรัฐบาลตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันว่า เป็นความจริงหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลจะได้รับฟังนายพิชัยตั้งแต่แรก เศรษฐกิจก็คงจะไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ ทั้งการส่งออกที่ลดฮวบลง การลงทุนต่างประเทศที่หดหายเกือบ 80% และความเชื่อมั่นต่างประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า ซึ่งถ้าเป็นผู้มีความรู้ทางเศรษฐกิจ จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จะมาใส่ร้ายกันมั่วๆ ไม่ได้ และถ้าหากนายพิชัยให้ข้อมูลแบบใส่ร้ายและไม่เป็นความจริง สื่อหลายสำนักคงไม่ตั้งให้เป็นกูรูเศรษฐกิจ และที่โดนเรียกปรับทัศนคติหลายหน ก็เพราะทนเห็นประเทศจะย่ำแย่ไม่ได้ จึงต้องออกมาเตือน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แม้กระทั่งล่าสุดที่ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2559 ว่า จะยุ่งยากและย่ำแย่ และโฆษกรัฐบาลออกมาตอบโต้ แต่พอเปิดทำงาน เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำจริง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันก็ตกต่ำเหลือ 20 กว่าเหรียญ ตามที่นายพิชัยคาดการณ์ ซึ่งหากรัฐบาลยังมีแนวคิดแบบเดิมไม่รับฟังข้อมูลรอบด้าน จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และอยากให้คนที่รู้เรื่องอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่าสิ่งที่นายพิชัยพูดมานั้นใส่ร้ายและบิดเบือนหรือไม่ จะได้วัดเครดิตกัน และรัฐบาลต้องถามตัวเองว่า ที่ทำอยู่จะฟื้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ แค่ทำการตลาดเท่านั้น

...

ทั้งนี้ การที่สภาคองเกรส หรือสภาอียู จะเชิญใคร เขาต้องพิจารณาแล้วว่ามีความรู้ความสามารถ และเป็นตัวแทนของฝั่งประชาธิปไตย ถ้าหากรัฐบาลคิดว่าจะล็อบบี้ได้ รัฐบาลก็ควรจะล็อบบี้ให้เขาเชิญคนของรัฐบาลไปแทน และความจริงคือ คงไม่สามารถพูดอะไรให้ประเทศเสียหายได้มากกว่าการประกาศจะปิดประเทศแล้ว ดังนั้น จึงอยากให้โฆษกรัฐบาลเองที่ต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลที่อาจเป็นการบิดเบือนแก่ประชาชน เพราะหากประชาชนเชื่อและนำข้อมูลไปตัดสินใจทางเศรษฐกิจอาจจะผิดพลาดถึงกับหมดตัวได้.