กรธ. ไม่ห้าม "พ่อ-แม่-ลูก-คู่สมรส" ส.ว. ลงสมัคร ส.ส. แต่หากได้รับตำแหน่งต้องพ้นจากสภาสูงทันที เพราะขาดคุณสมบัติ

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. เวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงชี้แจงกรณีคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. กรณีห้ามผู้ที่มีบุพการี คู่สมรส และบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ในคราวเดียวกัน ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ว่า ทาง กรธ.ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เขียนห้ามลงสมัคร ส.ส.แต่หากบุคคลนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น จะส่งผลให้ ส.ว.ผู้นั้นขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ว. และต้องพ้นจากตำแหน่งทันที กรณีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของ กกต.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพการเป็น ส.ว.สรรหาของคนหนึ่ง ที่มีบุตรชายไปดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนึ่ง โดย ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ ส.ว.ผู้นั้นพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ทันที

นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาในส่วนที่ 4 ว่าด้วยบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองนั้น ส่วนใหญ่ กรธ.คงหลักการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ได้ปรับการเขียนถ้อยคำให้สั้น กระชับและเข้าใจง่ายมากขึ้น โดย กรธ.ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติม ประเด็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่กระทำการที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้เงินงบประมาณ หรือ ให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานของรัฐสภา หมายถึง ห้ามแปรญัตติโยกงบประมาณเพื่อประโยชน์ของตนเอง หากฝ่าฝืนจะโดนยื่นถอดถอนได้ อย่างไรก็ตาม การประชุม กรธ.ในวันที่ 15 ม.ค. ทาง กรธ.จะเข้าสู่การพิจารณาในหมวดองค์กรอิสระ เบื้องต้น มีแนวโน้มที่จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย

...