มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เครือข่ายเสียงประชาชน สำรวจเยาวชนใน 20 จว.ทั่วประเทศ ชี้ เด็กรุ่นใหม่พอใจชีวิตปัจจุบันและจังหวัดที่อยู่ ขณะอีสาน-ออก-ใต้ อยากมีมหาวิทยาลัยในจังหวัดมากสุด เด็กกรุงอยากมีป่าในเมือง มอง ครอบครัวพลังใจสำคัญ
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 59 มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และเครือข่ายเสียงประชาชน โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 2,750 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัด ในช่วงวันที่ 1-15 ธ.ค. 58 โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ รายงานผลการสำรวจว่า โดยภาพรวม เยาวชนรุ่นใหม่ไทยมีความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตในระดับสูง โดยมีค่าคะแนนความพึงพอใจในชีวิต 8.25 จากเต็ม 10 คะแนน และค่าคะแนนความเชื่อมั่นว่าตนเองจะมีอนาคตที่สดใสอยู่ที่ 8.16 คะแนน
การสำรวจพบว่า ครอบครัวยังเป็นแหล่งพลังใจที่สำคัญที่สุด ในการช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งจะเห็นได้จากค่าคะแนนความพึงพอใจในชีวิตด้านครอบครัวสูงที่สุดที่ระดับคะแนน 8.43 และค่าความเชื่อมั่นว่าคนในครอบครัวจะไม่ทิ้งกัน อยู่ในระดับคะแนน 8.67
อย่างไรก็ดี เยาวชนรุ่นใหม่ที่คิดว่ามีฐานะขัดสนจะมีความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนที่คิดว่ามีฐานะพอมีพอกิน และมีฐานะร่ำรวย โดยเยาวชนที่รู้สึกว่ามีฐานะยากจนขัดสนมีความพึงพอใจในชีวิตในระดับ 7.46 เยาวชนที่รู้สึกว่ามีฐานะพอมีพอกิน มีความพึงพอใจ 8.27 และเยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะร่ำรวย มีความพึงพอใจในชีวิตสูงสุด 8.56
ส่วนผลการสำรวจในด้านที่สัมพันธ์กับจังหวัดของตนเอง ดร.เดชรัต สรุปว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่อยู่ 8.30 คะแนน มีความภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ 8.73 คะแนน และมีความเชื่อมั่นในอนาคตการพัฒนาของจังหวัดที่ตนอยู่ในระดับสูง 8.24 คะแนน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดจะมีความพอใจและภูมิใจมากกว่าเยาวชนที่มิได้อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิด นอกจากนี้ ร้อยละ 85.3 มีความต้องการใช้ชีวิตในจังหวัดที่ตนอยู่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคกลาง สูงถึงร้อยละ 93.0
...
ส่วนคำถามที่ถามว่า เยาวชนต้องการให้มีอะไรในจังหวัดที่ตนอยู่มากที่สุด (เลือกได้ 3 อันดับ) พบว่า เยาวชนรุ่นใหม่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดมากที่สุด ตามมาด้วย รถไฟฟ้า/รถราง เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สนามกีฬาที่ทันสมัย ป่าไม้และอุทยาน และศูนย์การค้า
แต่เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายภาค จะพบว่า ลำดับแรกที่เยาวชนต้องการเป็นดังนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัด ส่วนเยาวชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องการให้มีป่าไม้/อุทยาน เยาวชนภาคกลาง ต้องการให้มีสนามบิน ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนไทยรุ่นใหม่มีความพอใจและมีความภูมิใจในจังหวัดที่อยู่ และต้องการอยู่ในจังหวัดต่อไปในอนาคต จึงควรได้รับโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาจังหวัดและภูมิภาคให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ด้านการเรียน และมีความเชื่อมั่นว่าตนเองจะมีอนาคตสดใสสูงที่สุด และเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวสูงที่สุด ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากคือ กลุ่มอันธพาลและกลุ่มไร้ตัวตน โดยกลุ่มอันธพาล มีแนวโน้มจะพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนเพศชาย และไม่ค่อยได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว.