'บัญญัติ บรรทัดฐาน' ชี้ 6 ปัจจัย ทำการเมืองปี 2559 ร้อนแรง จี้ใจดำงานปฏิรูปเหลว แค่ยกเครื่องตำรวจยังแหยง โจทย์ใหญ่แก้ปมเศรษฐกิจไม่ตก แรงงาน-เกษตรอ่วม อย่าใส่ คปป. ใน รธน. หวั่นไม่ผ่านประชามติ แนะคสช.-รัฐบาล อย่าตั้งมั่นในความประมาท

วันที่ 2 มกราคม นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปี 2559 ว่า คงไม่ต่างจากปี 2558 เพราะปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อมยังเป็นปัจจัยเดิมๆ แต่สถานการณ์อาจร้อนแรงกว่า จะสับสนวุ่นวายมากกว่า มาจากปัจจัยเหล่านี้คือ ปัจจัยที่ 1 กลุ่มเครือข่ายอำนาจเก่าที่รับผลกระทบโดยตรงจากที่ คสช.เข้ามา และจากกลุ่มคนที่มีความเห็นตรงข้ามกับ คสช.สิ้นเชิง อาทิ นักวิชาการ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกัน คนเหล่านี้จะเคลื่อนไหวถี่มากขึ้น เพราะได้รับการกดดันที่ยาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มรัฐบาลเก่ามีปัจจัยเร่งเร้าให้ต้องเคลื่อนไหว เพราะคดีต่างๆนับถอยหลัง เข้าใกล้ตัวมาทุกขณะ การเคลื่อนไหวเพื่อดิสเครดิสรัฐบาลและ คสช. รวมถึงการดิสเครดิตของกระบวนการยุติธรรมไทย จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็เป็นการต่อรองทางคดีอีกทางหนึ่ง คืออย่างเบา ก็ให้ยืดเยื้อคดีออกไป มากไปกว่านั้น คือการหวังผลในการนิรโทษกรรมที่ยังมีแนวคิดนี้อยู่ เพราะมีการเสนอความเห็นเรื่องนี้มาตลอด และหากมีการตอบรับก็จะขอขยายผลมากขึ้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้มีแน่และตั้งเค้ากันอยู่แล้ว

นายบัญัติ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 2 กลุ่มคนที่ตั้งความหวังไว้สูงสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเห็นการจัดการการโกง ทุจริต คอร์รัปชันที่จริงจัง อยากเห็นการปฏิรูปบ้านเมืองที่ฉับพลันทันที เพราะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้เนื่องจากมีเครื่องมือต่างๆครบครัน แต่กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ผิดหวังก็จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ทั้ง สปช.จนยุบไปแล้วมาตั้ง สปท. ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน การปฏิรูปบางอย่างที่สามารถทำได้ทันที เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่สังคมไทยเรียกร้องมายาวนาน ทั้งที่มีการตั้งกรรมการศึกษาหลายคณะ คณะที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ชุดที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานและเป็นตำรวจเอง ก็สนับสนุนให้ปฏิรูป แต่กลับไม่มีใครสนใจจะปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีท่าทีที่แหยงๆกับเรื่องนี้

นายบัญญัติกล่าวว่า ปัยจัย 3 เศรษฐกิจ น่าเห็นใจรัฐบาลแม้จะทำเต็มที่ แต่ระบบเศรษฐกิจทั้งนอกประเทศก็กดดัน ภายในเองก็มีการปรับ ครม.ยกเครื่องทีมเศรษฐกิจแล้ว ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลเป้าหมายว่า ปี 59 ไทยจะโตไม่ต่ำกว่า3% วันนี้มี 2 กลุ่ม ที่รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงมากคือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาทิ คนงาน ลูกจ้าง พนักงานห้างร้าน คนค้าขายหาเช้ากินค่ำ เดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงมากๆ อีกกลุ่มที่สาหัส คือกลุ่มเกษตรกร ทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน เพราะพืชผลการเกษตรตกต่ำมาก ยิ่งมีการพยากรณ์ว่าไทยจะแห้งแล้งขาดน้ำในภาคเกษตรกรรมในปี 59

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ 4 การจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งวันนี้ยังคลุมเครือ ยังหาข้อยุติไม่ได้ สังคมจะรู้จริงๆก็สิ้นเดือนมกราคม แต่มีประเด็นสำคัญคือ กรอบ 10 ข้อที่ คสช. ส่งไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีหนึ่งในข้อเสนอนั้น คือ รัฐธรรมนูญควรมีทางออกเพื่อแก้วิกฤติกรณีที่มีทางตันเกิดขึ้นต้องมีองค์กร หรือกลไก ที่เข้ามาทำหน้าที่คลี่คลายปัญหานี้ให้การบริหารราชหารแผ่นดินสามารถเดินหน้าไปได้ คือ คปป. ที่ชุด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ถูกตีตกกลางสภาไปแล้ว ถ้าครั้งนี้มีอีกและยังมีอำนาจมากมาย เช่นเดียวกับที่ชุด นายบวรศักดิ์ การโต้แย้งคัดค้านของสังคมจะเกิดขึ้นอีก ที่น่ากังวลคือ วันนั้นร้อนเฉพาะในสภา สปช. แต่วันนี้ต้องจัดทำประชามติ หากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องที่สังคมไม่พอใจ หรือรับไม่ได้ บรรยากาศในการจัดทำประชามติ ก็คงไม่ปกติ สำคัญสุด คือ ทัศนคติ คสช. และท่าทีแสดงออก

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 5 ทัศนคติของการมองปัญหาของ คสช. และตัวรัฐบาลกับทีท่าว่าเขามองปัญหาอย่างไร และการแสดงออกของการเผชิญปัญหานั้นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าการตัดสินใจแก้ไขปัญหานั้นรวดเร็ว เด็ดขาด สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน คะแนนนิยมหรือผลบวกจะสูง เข้าใจว่าผลสำรวจลหลายสำนักที่ออกมาว่าคะแนนนิยมของรัฐบาล หรือ ตัว พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ค่อนข้างดี อาจจะเป็นเพราะตัวนี้ คือหลายครั้งที่ตัดสินใจเร็ว เด็ดขาด สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แต่เมื่อไหร่ที่การตัดสินที่ว่านี้ ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ก็จะก่อให้เกิดผลลบ ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน และปัจจัยที่ 6 แรงกดดันจากนอกประเทศ ซึ่งไม่ได้ลดน้อยลงไปมีการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง เพราะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของประเทศ แล้วยังโยงถึงภาวะเศรษฐกิจการค้าขายส่งออก นำเข้าด้วย

" สิ่งที่น่าวิตกคือ ปี 2559 จะมีปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการต้องตัดสินใจในทำนองที่ว่านี้มากในเกือบทุกเรื่อง คือปัญหาที่รอการตัดสินใจจะวิ่งเข้ามาหาเช่น กรณี อุทยานราชภักดิ์ ซึ่งครั้งแรกผู้ที่เกี่ยวข้องอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก และต้องการตัดบทว่า จบ ก็เห็นชัดว่าสังคมมีปฏิกิริยาอย่างไร ยังดีที่ตั้งหลักทันและกลับมาสอบสวนทวนความกัน ส่วนผลจะถูกใจหรือไม่ต้องรอดู ช่วงหลังที่พอเบาใจได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเรื่องเหล่านี้ได้ดี มีการถอยหลายครั้ง เช่น กรณีความขัดแย้งเรื่องการปฏิรูปพลังงาน และกฎหมายพลังงาน หรือล่าสุด พืชตัดต่อพันธุ์กรรมจีเอ็มโอ รัฐบาลก็สั่งถอย เมื่อย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมองค์กรก็น่าเป็นห่วงจากเหตุปัจจัยทั้งหมด ทำให้สรุปได้ว่า สถานการณ์การเมืองในปี 59 นับจากนี้ไปมันไม่ธรรมดา ได้แต่ภาวนาให้ คสช. และรัฐบาลระมัดระวัง ไม่ตั้งในความประมาท แม้สังคมไทยจะเอาใจช่วยแต่ก็มีปัจจัยทั้งหกนี้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปัจจัยสุดท้ายนี่สำคัญที่สุด " นายบัญญัติ กล่าว.

...