เรื่องราวตั้งแต่สถานที่ ตัวคน เสียงเพลง ฯลฯ ที่คนเราคลับคล้ายว่า เคยเห็น เคยไป...สักครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...แต่ที่ไหน เมื่อไร ไม่รู้ นี่แหละครับ เป็นอาการที่ฝรั่งเรียกว่า เดจาวู

ในงานเลี้ยงฉลองแต่ง พ.ต.ท.พายัพ โสธรางกูร กับ เจ้าสาวจิระภา ดำรงโภคภัณฑ์ ที่โรงแรมมารวย เมื่อเที่ยงวันเสาร์ผมประทับใจ ช่วงเวลาพิธีสำคัญ เจ้าบ่าวเคียงคู่เจ้าสาว เดินลอดซุ้มกระบี่

นักเรียนนายร้อยในชุดขาว ตั้งสองแถว ชักกระบี่ออกมาปักไขว้กัน ทำท่าเหมือนปิดกั้น แล้วก็เบี่ยงเบนเป็นยกขึ้นฟ้า ปลายกระบี่จรดกัน...กลายเป็นซุ้มกระบี่ เปิดทางเดิน...ให้บ่าวสาว

เสียงเพลงหนึ่ง...ผู้ชายร้อง ก็ดังหวานกังวาน...คุ้นหู น่าจะเป็นเสียง สันติ ลุนเผ่ สมัยหนุ่ม เนื้อร้องบางคำ “สามพราน” และหลายคำ เอ่ยถึง “ดาว” และ “แตะดาวบนบ่า”...ทำให้รู้ว่าน่าจะเป็นเพลงสถาบัน เพลงในหัวใจนักเรียนนายร้อยสามพราน...

ท่อนท้ายจบลงด้วยคำ “ขวัญดาว” ผมเดาเอาว่าเป็นชื่อเพลง ถามเจ้าบ่าว ก็เป็นเช่นนั้นจริง

ผมโมเม...ว่า น่าจะเคยฟังเพลงขวัญดาวมาก่อน พยายามทบทวนความจำ...ช่วงที่เพลงสถาบันเป็นเพลงดัง อย่าง ขวัญโดม โดมในดวงใจ หรือ ขวัญใจจุฬา ฯลฯ กระทั่งเพลง ดอนเมือง...

ท่อนนำ ดอน แดนดินถิ่นวิมาน...เสียงของบุษยา รังสี หวานเสียดแทงใจ ดึงดูดใจชาย...ที่ไม่ได้เป็นลูกทัพฟ้า...ฝันกระเจิงตามไป ท่วงทำนองเดียวกับ ฟังโดมในดวงใจ แล้วก็อยากเป็นหนึ่งในขวัญโดม

อาการที่เกิดกับเพลงขวัญดาว ผมว่าน่าจะเป็นอาการ “เดจาวู” อย่างหนึ่ง

เป็นอาการเดียวกับที่ได้ฟังบางเพลง ลอยกระทง...จากรายการศิลป์สโมสร ก่อนเที่ยง ทีวีช่องไทยพีบีเอส คุณสุรินทร์ ภาคศิริ เอาเพลงลูกทุ่งเก่า ลอยกระทง เสี่ยงรัก เปิดให้ฟังเสียงโต้ตอบตัดพ้อของหนุ่มสาว นึกถึงครั้งหนึ่ง กับใครสักคนหนึ่ง

...

นี่เป็นเวลาอารมณ์เหงา...แต่อารมณ์ร่วมคืนลอยกระทงอยู่ที่ความครึกครื้นรื่นเริง เพลงรำวงวันลอยกระทง...ผมได้เห็นหน้านักร้องสุนทราภรณ์ในดวงใจ สมัยสาวๆหนุ่มหลายคน...ศรีสุดา วรนุช เลิศ วินัย ฯลฯ

คืนลอยกระทงของนักร้องลูกทุ่ง สายัณห์ สัญญา นั้น ครูสุรินทร์ เล่าว่า ต้องวิ่งรอกทั้งคืน เริ่มงานแรกในโรงหนัง ไปถึงงานที่ 5 ก็ย่ำรุ่ง เพลงลอยกระทงของสายัณห์ ขึ้นต้นว่า...เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง...

ยอดรัก สลักใจ ขึ้นต้นไว้ใน “ คอยเธอลอยกระทง”...ด้วยเนื้อร้องเดียวกัน เพิ่มเติมบางคำ...

ฟังเพลงลอยกระทงแล้ว อาการ เดจาวู กำเริบ...เผลอใจไปตามเพลง...แต่จริงๆแล้ว ไม่แน่ใจ เคยได้ฟังสักครั้งหนึ่งหรือไม่ หรือไม่เคยเลย

อีกปมของอาการเดจาวู ราวปี 2502 สถานีวิทยุ สสส. (เสียงสามยอด) ประกาศอันดับเพลงยอดนิยม ทุกสัปดาห์

เพลงชุดของทูล ทองใจ เริ่มจากเพลงโปรดเถิดดวงใจ เสียงดุเหว่าแว่ว ฯลฯ ยึดอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายเดือน

มาสะดุดใจ จำไม่ลืม ก็ตอนเพลงแสนแสบ ที่ชรินทร์ นันทนาคร ร้อง...แทรกเข้ามาเป็นที่หนึ่ง...วัยรุ่นรุ่นนั้น...ร้องท่อน “โอ้ว่ากังหัน ทุกวันมันพัดสะบัดวน กว่าจะรู้จิตคน จะหมุนกี่หนต่อวัน” ยั่วสาวกันเป็นที่เพลิดเพลิน

อีกไม่กี่ปีต่อมา ผมเริ่มได้ยินคำว่า เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง

ถ้าเป็นเพลง เสือสำนึกบาป (เสือเอย เสือเคยนามก้องกำจาย) ที่คำรณ สัมบุณณานนท์ แต่งชุดไอ้เสือสะพายดาบ...ร้อง ก็ลูกทุ่งชัด แต่เพลงทูล ทองใจ เล่า แยกไปทางไหน ลูกกรุง ลูกทุ่ง บางท่วงทำนอง ก็หวานอ้อยส้อยไปกันได้

สุรินทร์ ภาคศิริ ไขปริศนาราวปี 2507 ลูกทุ่งลูกกรุง...

แยกกัน ทำท่าจะเรื่องเคืองๆกัน

ชาญชัย บัวบังศร อยากให้รักอยากให้ปรองดองกัน เลยจับคู่ ให้ สุเทพ วงศ์กำแหง มาร้องคู่กับผ่องศรี วรนุช เพลงหนึ่ง สายัณห์ สัญญา กับ จินตนา สุขสถิตย์ อีกเพลงหนึ่ง

ถ้าไม่ได้ฟังกับหู ไม่เห็นด้วยตา ยังนึกไม่ถึงว่า ครั้งหนึ่งในวงการนักร้อง...เคยพยายามปรองดองกันมาแล้ว

ฟังเพลงคู่ลูกกรุงลูกทุ่ง อาการเดจาวูผมก็กำเริบหนัก...ผมคลับคล้าย คลับคลา...ว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในทางการเมือง เคยมีพยายามจะปรองดองกัน...แต่จนแล้วจนเล่า

ขอย้อนไปฟังเพลง คอยเธอลอยกระทง ของยอดรัก สลักใจ ที่ทหารเขาร้องเพลงขอเวลาๆ นั้น ก็นานมานับได้ปีกว่า แต่ความปรองดองที่ว่า ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ หรือ...กระทงหลงทาง ไปอยู่ที่ไหน ใครเจอหน้าไชยา มิตรชัย ช่วยถามให้สักที.

กิเลน ประลองเชิง