ในแวดวงเศรษฐกิจเฝ้ามองกันมาระยะหนึ่งแล้วว่าสงครามการเงินระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอาจจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่ใช่สงครามที่สู้รบด้วยอาวุธ แต่เป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจ ผมเองไม่ใช่ผู้สันทัดกรณี ก็ได้รอดูและจดจำว่าคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนจะแม่นไม่แม่นแค่ไหน แต่ตอนนี้ปัญหาการเมืองและการสู้รบในซีเรียดูจะน่าเป็นกังวลมากกว่า เพราะประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย แม้กระทั่งจีน ก็โดดเข้าไปมะรุมมะตุ้มกันใหญ่ อาจบานปลายกลายเป็นสงครามโลกได้
ยิ่งมาเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีส กลุ่มไอเอสเอาคืนฝรั่งเศส สังเวยไปร้อยกว่าชีวิต ยิ่งเร้าสถานการณ์ร้อนฉ่าเข้าไปอีก
ถ้าเกิดสงครามเมื่อไหร่ ทั่วโลกจะขาดแคลนน้ำมัน ความเป็นอยู่ของประชาชนจะลำบาก ดังนั้นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จึงมีสำรองน้ำมันไม่น้อยกว่า 100 วัน เพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับภาวะผันผวนของโลก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตดังเช่นสงครามอ่าวเปอร์เซีย
สำหรับไทยก็เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเช่นกัน เดิมเรามีน้ำมันสำรอง 12% (เป็นน้ำมันดิบ 6% และน้ำมันสำเร็จรูป 6%) ใช้ได้ 43 วัน ซึ่งถือว่าน้อยอยู่แล้ว แต่ในยุคที่คุณณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็น รมว.พลังงาน ได้มีการลดสำรองน้ำมันเหลือ 7% (น้ำมันดิบ 6% เท่าเดิม และน้ำมันสำเร็จรูป 1%) ใช้ได้แค่เพียง 25 วัน
การลดปริมาณสำรองน้ำมัน ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆคือผู้ค้าน้ำมัน เพราะต้นทุนลดลงจากการที่สต๊อกน้ำมันน้อยลง แต่ประชาชนกลับเป็นฝ่ายต้องรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำมันไปเต็มๆ
เรื่องนี้อันตรายมาก หากมีเหตุฉุกเฉินจากวิกฤตการณ์โลกก็จะไม่สามารถนำเข้าน้ำมันได้ ไทยจะขาดแคลนน้ำมัน ดังนั้นผมอยากเสนอให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน สั่งเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมัน อย่างน้อยควรมีไม่น้อยกว่า 43 วันตามเดิม
...
ปัญหาพลังงานมีทั้งเรื่องราคาและความมั่นคง ความผันผวนของราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง หลายปีก่อนคงไม่มีใครคิดว่าราคาน้ำมันโลกจะลดต่ำลงขนาดนี้ และมีแนวโน้มจะต่ำแบบนี้ไปอีกนาน ขนาดไอเอ็มเอฟยังเตือนประเทศซาอุดีอาระเบียอาจจะล้มละลายภายใน 5 ปี หากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ฟังแล้วแทบไม่อยากเชื่อว่ามหาเศรษฐีน้ำมันอย่างซาอุฯจะตกอับขนาดนี้
สำหรับประเทศไทยแทนที่จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง น่าจะประหยัดการนำเข้าปีละหลายแสนล้านบาท แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและภาวะการเมืองกลับทำให้ไทยไม่สามารถได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันเลย หนำซ้ำยังเป็นตัวกดราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดให้ตกต่ำไปด้วย
จะว่าไปคนไทยมักจะงงๆสับสนกับข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน เพราะมีการโจมตีกันด้วยข้อมูลที่ถูกบ้าง ผิดบ้างมาตลอด จะไปโทษประชาชนก็ไม่ได้ เพราะหลายครั้งที่กระทรวงพลังงานรวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นฝ่ายทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเสียเอง
ยกตัวอย่าง โครงการปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มีข่าวทุจริตมโหฬาร เรื่องไปถึง ป.ป.ช. แต่ก็เงียบหายไป หรือ โครงการออยล์แซนด์สในประเทศแคนาดา ซื้อมาราคาแพงต้นทุนสูง สุดท้ายเจ๊ง ต้องปิดดำเนินการ รวมถึง โครงการเดินท่อก๊าซระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล ก็ไปไม่ไหว
เรื่องเหล่านี้ถ้าอยากให้สังคมหายคลางแคลงใจ ต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง และชี้แจงให้กระจ่าง.
ลมกรด