กรธ.ปฏิรูปเลือกตั้งเล็งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หลังอนุฯสรุปข้อดีให้ฟังจนเคลิ้ม พรรคการเมืองเข้มแข็งประหยัดงบ 600 ล้าน มาอีกแล้วข้อเสนอสุดฮือฮาเปิดทางนายกฯคนนอก ระบุนายกฯจะเป็น ส.ส.หรือไม่ก็ได้ ขอแค่ ส.ส.ในสภายกมือให้ อ้างเอาไว้ผ่าทางตันหากเกิดวิกฤติรอบใหม่ ไม่มีแล้วนายกฯมาตรา 7 เอาไปอ้างกันพร่ำเพรื่อสนุกปาก “อุดม” แย้มพรรคการเมืองต้องเสนอตัวนายกฯให้ประชาชนเห็นชัดๆตั้งแต่ช่วงหาเสียง ส่วนคนเป็น รมต.ต้องลาออกจาก ส.ส. ฝ่ายการเมืองยังเห็นต่าง พท.-กปปส. เสนอใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ “วันชัย” ยื่นเสนอสุดโต่ง ตัดสิทธิทั้งครัวเรือนคนทุจริต “เสรี” ชี้ระยะเปลี่ยนผ่านควรเขียนบทเฉพาะกาล กำหนดเลือกตั้ง 2 ปีครั้ง ประเมินผลงาน เชื่อแก้ปัญหาทุจริตชะงัด นายกฯชี้เถียงแย้ง รธน.เรื่องธรรมดา แต่ซัดนักการเมืองห่วงแต่เรื่องเลือกตั้ง ตำหนิพวกนอนหลับทับสิทธิ์ เลือกตั้งไม่ออกมาแต่อยู่บ้านวิจารณ์เป็นไฟ สปท.ตั้งแล้ว กมธ. 11 คณะ พร้อมวิป สปท. “ทินพันธุ์” นั่งประธานเอง
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยังคงเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขันพร้อมโยนความเห็นสู่สาธารณะเป็นระยะ โดยมีข้อเสนอแนะติติงมากมายจากการนำเสนอระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ล่าสุด กรธ.มีแนวโน้มใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวตามที่มีข้อสรุปเบื้องต้นไปก่อนหน้านี้ พร้อมโยนข้อเสนอใหม่สุดแหลมคมให้นายกฯมาจาก ส.ส.หรือไม่ก็ได้ เพื่อเปิดช่องรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
กรธ.เล็งใช้บัตรใบเดียวอนุฯชี้ดีจริง
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เป็นประธานการประชุม กรธ. วาระพิจารณารายงานของอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติและอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร และพิจารณาหมวดองค์กรอิสระ จากนั้นเวลา 15.00 น. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุมว่า คณะอนุฯฝ่ายนิติบัญญัตินำเสนอรายงานความคืบหน้าการใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 1 และ 2 ใบ โดยบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่ชอบและพรรคการเมืองที่ชอบได้ แต่อาจทำให้พรรคการเมืองขาดความเข้มแข็ง เนื่องจากพรรค การเมืองไม่มีความผูกพันกับผู้สมัครแบบแบ่งเขต ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวนั้น ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และการใช้บัตรเดียวจะทำให้บัตรเสียลดลง ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในคณะกรรมการประจำหน่วย ลดค่าใช้จ่ายพิมพ์บัตร ประหยัดงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลการสำรวจเห็นว่าการใช้บัตรเดียวจะสะดวกกับประชาชนมากกว่า โดยอนุกรรมการเห็นว่าการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมาะสมสุด
...
เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก
นายอมรกล่าวว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร ได้เสนอรายงานความคืบหน้าผลการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต่อ กรธ. โดยได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบรัฐสภา ระบบการแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด และระบบผสมระหว่างการควบอำนาจกับการแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา โดยนายกฯต้องมาจากมติของ ส.ส. โดยจะเป็น ส.ส.หรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีกลไกเพื่อเป็นหลักประกันให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกฯ แต่วิธีการหรือมติจะมีหลักการอย่างไรนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุฯฝ่ายบริหารไปศึกษาเพิ่มเติมและรายงานต่อที่ประชุมวันที่ 11 พ.ย. โดยเปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ด้วย
รองรับวิกฤติสถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า กรธ.ได้ให้เหตุผลการเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกหรือไม่ นายอมรตอบว่า กรธ.มองว่าเราไม่อาจเดาได้ว่าจะมีวิกฤติทางการเมืองเหมือนสถานการณ์ก่อนการเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ จึงจำเป็นต้องเปิดช่องไว้ เพราะที่ผ่านมาปิดช่องไว้จนไปต่อไม่ได้ อีกทั้งครั้งนี้เราอาจจะไม่มีบทบัญญัติมาตรา 7 อีกแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการนำมาใช้เรียกร้องนายกฯพระราชทานอีกให้ระคายเบื้องพระยุคลบาท ส่วนจำนวนเสียงลงมติเลือกนายกฯที่อาจเป็น ส.ส.หรือไม่ก็ได้นั้น กรธ.ยังไม่ได้ลงรายละเอียด อย่างไรก็ตาม สมาชิก กรธ.บางคนมองว่าควรจะใช้มติจากสมาชิกรัฐสภาคือทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่ที่ประชุม ส่วนใหญ่เห็นควรให้เป็นมติ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
ให้กำหนดตัวนายกฯตั้งแต่หาเสียง
นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. กล่าวว่า เวลานี้มีข้อเสนอถึงกรณีที่นายกฯไม่เป็น ส.ส.จะมีทางเลือก ได้แก่ 1.ให้พรรคการเมืองต้องประกาศตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งว่าหากได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลจะให้ใครมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าอยากได้ใครมาเป็นนายกฯและเกิดการยอมรับ 2.ให้สภาฯสามารถลงมติเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเป็นหรือไม่ได้เป็น ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างไร ก็ตาม ในการประชุม กรธ.อาจจะมีข้อเสนอและแนวทางในการพิจารณามากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งอยู่กับการตัดสินใจของ กรธ.ทั้งหมด แต่ส่วนตัวคิดว่าแม้นายกฯจะไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องให้สภาฯลงมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งแบบพิเศษที่มาก กว่าการลงมติเลือกนายกฯที่มาจาก ส.ส.
แย้มเป็น รมต.ต้องลาออกจาก ส.ส.
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญ 40 และ 50 บัญญัติเป็นหลักการว่านายกฯจะต้องเป็น ส.ส.เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสืบทอดอำนาจ นายอุดมตอบว่า ในยุคหนึ่งยอมรับว่ามีความไม่ไว้วางใจว่าถ้าไม่ให้นายกฯเป็น ส.ส. อาจจะเป็นการสืบทอดอำนาจ ในทางกลับกันก็มีคำถามว่าหากบุคคลนั้นไม่ได้เป็น ส.ส.แต่ถ้าเป็นคนที่ประชาชนให้การยอมรับจะถือว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เมื่อถามว่า จะนำปัญหาของการไม่มีนายกฯที่มีอำนาจเต็มก่อนเกิดการรัฐประหารปี 2557 มาพิจารณาหรือไม่ นายอุดมตอบว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรกำหนดระยะเวลาและขอบเขตอำนาจของการทำหน้าที่รักษาการณ์ของนายกฯเอาไว้ ไม่ใช่นั่งยาวแบบไม่มีกำหนด และอาจพิจารณาว่าเมื่อ ส.ส.ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วควรลาออกจาก ส.ส.หรือไม่
สปท.เห็นชอบตั้ง กมธ.11 คณะ
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และกรรมการ ทั้ง 11 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาฯ โดยที่ประชุมเห็นชอบคือ 1. นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน กมธ.การเมือง 2. พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นประธาน กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน 3. มีนายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นประธาน กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.นางนินนาท ชลิตานนท์ เป็นประธาน กมธ.การปกครองท้องถิ่น
ตั้งวิป สปท. “ทินพันธุ์” เป็นประธาน
5. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน กมธ.การศึกษา 6.นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน กมธ.เศรษฐกิจ 7. นายคุรุจิต นาครทรรพ เป็นประธาน กมธ.พลังงาน 8.นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นประธาน กมธ.สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9. พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน กมธ.สื่อสารมวลชน 10. นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ เป็นประธาน กมธ.สังคม และ 11. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน กมธ.กีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ทั้งนี้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯทั้ง 11 คณะจะประชุมนัดแรกวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.00 น. จากนั้นที่ประชุมให้ความเห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญประจำสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) จำนวน 21 คน โดยมีประธาน สปท.เป็นประธานวิป สปท.โดยตำแหน่ง และมีประธาน กมธ.ทุกคณะเป็นกรรมการ
กรธ.ไม่ส่งตัวแทนฟังความเห็น สปท.
จากนั้นเวลา 10.15 น. เข้าสู่วาระอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่เนื้อหานายกษิต ภิรมย์ สปท. อภิปรายเสนอให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เข้าร่วมรับฟังความเห็นของ สปท. พร้อมนำเสนอบทวิเคราะห์ต่อมุมมองปัญหาของบ้านเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิก สปท.เข้าใจทิศทางที่จะนำไปสู่การทำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่า กรธ.ไม่ได้ส่งตัวแทนคนใดเข้าร่วมรับฟังในที่ประชุม
ชงห้ามคนโกงเล่นการเมืองยกครัว
นายวันชัย สอนศิริ สปท. อภิปรายเสนอว่า ขอให้ กรธ.กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือ 1. ผู้เคยกระทำการทุจริตศาลตัดสินว่าเป็นผู้ที่คอร์รัปชันและผู้เคยถูกลงโทษ เพราะบุคคลดังกล่าวถือว่ามีตำหนิไม่ว่าจะกระทำในอดีตหรือปัจจุบัน 2.บุคคลที่ถูกศาลตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง รวมถึงผู้ที่เคยถูกสภาฯถอดถอน 3.ข้าราชการที่ถูกปลดออกไล่ออก หรือถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดแม้จะเป็นการรอลงโทษทางอาญาในคดีที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต 4.บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทางการเมืองและการเสียภาษีย้อนหลัง ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม กำหนดประเด็นหาเสียงที่ทำได้และไม่ได้ งดการ หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม และต้องห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ของผู้ที่ทุจริตเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องลงโทษด้วยการยุบพรรค ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต้องเน้นทำงานเชิงรุก
เสนอเลือกตั้ง 2 ปีครั้งยุคเปลี่ยนผ่าน
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. อภิปรายเสนอว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก เพื่อให้แก้ไขรายละเอียดได้ง่าย และระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศควรนำไปเขียนในบทเฉพาะกาล เช่น การบริหารราชการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรกำหนดให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลการเลือกตั้งว่าสุจริตเที่ยงธรรม แก้ปัญหาซื้อเสียงได้จริงหรือไม่ รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในกรอบบริหารราชการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าหากเลือกตั้ง 2 ปีครั้งจะลดการซื้อเสียงได้แน่นอน สำหรับที่มาของนายกฯในบทเฉพาะกาลควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ ขณะที่ ส.ว.ในหลักการควรมาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อแก้ปัญหาในบทเฉพาะกาลควรให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งก่อน
ใช้บัตร 2 ใบพร้อมข้อเสนอหลุดโลก
ด้านนายจินดา วงศ์สวัสดิ์ สปท. อภิปรายว่า สนับสนุนระบบเลือกตั้งของ กรธ. แต่ควรปรับวิธีการลงคะแนนด้วยการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ประชาชน 1 คนมีสิทธิกาคะแนน ส.ส.เขตได้ 2 คน ทั้งนี้เพื่อเฉลี่ยคะแนนเลือกตั้ง ส่วนคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ประชาชน 1 คน มีสิทธิลงคะแนน 10 เสียง เพื่อให้เกิดการกระจายคะแนน ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคส่งผู้สมัครเขตละ 1 คน แต่ให้สิทธิสมาชิกพรรคที่ไม่ได้รับเลือกให้ลงแข่งขันเลือกตั้ง ส่งตนเองลงสมัครในเขตเลือกตั้งในนามอิสระได้ โดยไม่ต้องลาออกจากสมาชิกพรรค ระบบบัญชีรายชื่อต้องไม่มีการหาเสียงให้กับพรรคการเมือง ขณะที่ประชาชนต้องมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างอิสระ
ต่อรองปรับลดปาร์ตี้ลิสต์เหลือ 50
นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท.ตัวแทนจากกลุ่ม กปปส. อภิปรายว่า ไม่ขัดข้องกับการลงคะแนนบัตรเดียว แล้วนำไปคิดหา ส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นนายทุน คนมีเงิน ไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด แล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศ คนเหล่านี้จ่ายเงินทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง ตนมองว่า กรธ.อาจปล่อยให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้บ้าง แต่ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนที่ กรธ.เคาะให้มีมากถึง 150 คน อยากต่อรอง กรธ.ว่าควรมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อเพียง 50 คนก็พอ
อย่ากำกับนโยบายพรรคการเมือง
นายนิกร จำนง สมาชิก สปท.ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนขอพูดในนามพรรคชาติไทยพัฒนาว่า การกำกับนโยบายพรรคการเมืองคือสิ่งที่เรากังวลมาก ไม่ขัดข้องหากจะตรวจสอบว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ และขอย้ำว่า ส.ส.จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่ควรมีกลุ่มการเมืองแบบร่างฉบับที่แล้วอีก สำหรับองค์กรอิสระไม่ควรอยู่นาน บางองค์กรนานถึง 9 ปี ควรอยู่สัก 6 ปี เพราะเห็นว่าองค์กรเหล่านี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ หากอยู่นานจะยิ่งมีศัตรูเยอะ ส่วนที่มาควรหลากหลาย เพราะแบบเดิมมันมาจากฝ่ายศาลเป็นส่วนใหญ่
สปท.ทำแผนปฏิรูปเป็นของขวัญปีใหม่
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก สปท. แถลงว่า ภายหลัง สปท.แต่งตั้ง กมธ.สามัญประจำ สปท.ทั้ง 11 คณะ กมธ.วิสามัญประจำ สปท. (วิป สปท.) และ กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงถือเป็นวันสิ้นสุดตัวเลขโรดแม็ปตัวที่ 1 จากที่กำหนดไว้ 1+1+18 โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่โรดแม็ปเลข 1 ตัวที่สอง โดย กมธ.ทั้ง 11 คณะจะมีเวลาทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนภารกิจของ สปท.จำนวน 30 วัน จากนั้น วิป สปท.ก็จะทยอยบรรจุแบบแผนของ กมธ.แต่ละคณะเข้าสู่ระเบียบวาระที่ประชุมสปท.ใหญ่ สปท.ที่จะเริ่มในกลางเดือน ธ.ค. จะถือเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นสัญญาประชาคมที่ประชาชนจะได้รับทราบว่าช่วงโรดแม็ปสุดท้าย คือ 18 เดือนหลังจากนี้ประชาชนจะได้เห็นอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม
11 พ.ย.เชิญทูตฟังกรอบการทำงาน
นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ โฆษก สปท. กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. สปท.จะเชิญคณะทูตมารับฟังโรดแม็ปเกี่ยวกับการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศของ สปท.ว่าจะเป็นอย่างไร และจะเปิดให้คณะทูตได้ซักถามประเด็นขอสงสัย เกี่ยวกับกรอบการทำงานของ สปท. โดยเบื้องต้นทราบว่ามีคณะทูตตอบรับที่จะเข้าร่วมประมาณ 50-60 คน ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น หลังเสร็จงานดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ สปท.และคณะทูตได้สร้างเครือข่ายการทำงานในอนาคตร่วมกันต่อไป