เมื่อวาน ผมรับใช้ถึงตอนที่มีประเทศใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1990 ชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้สืบสิทธิ์จากเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก จึงต้องมารับทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีที่ทั้งสองประเทศทำไว้ในอดีต
เยอรมนีตะวันตกไม่ค่อยเท่าใดละครับ แต่เยอรมนีตะวันออกนี่ทำกรรมไว้เยอะ ตั้งกระทรวงความมั่นคงของรัฐคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้คนทั้งประเทศ ด้วยการจ้างกลุ่มคนจำนวนมากถึง 624,000 คน ทำหน้าที่เป็นสายลับ
เครือข่ายสายลับหกแสนกว่าคนพวกนี้ทำลายชีวิตคนไปมาก รายงานข่าวที่จริงบ้างเท็จบ้าง การรายงานบางเรื่องทำให้คนที่รัฐหมายหัวตกงาน บ้างถูกจับกุมคุมขัง
พอกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายและมีการรวมประเทศ เสรีภาพของประชาชนก็ได้กลับคืนมา ข้อมูลต่างๆ ก็ถูกเปิดเผย ผู้คนเป็นล้านคนถึงได้รู้ว่าตนเองถูกคุกคาม ถูกทรยศหักหลังจากคนที่ใกล้ชิดตนแต่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นสายสืบลับโดยรัฐบาล
หลังจากรวมประเทศแล้ว รัฐบาลเยอรมนีใหม่ตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบว่าตนตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามของตำรวจลับและถูกสายสืบลับคอยเฝ้าจับตามองในช่วงที่อยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันออกหรือเปล่า?
หน่วยงานที่ว่านี่ก็คือ คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารลับของกระทรวงความมั่นคงของรัฐ หรือสตาซี ชื่อย่อของหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมานี้ก็คือ Gauck Agency แปลเป็นภาษาไทยน่าจะได้ว่า หน่วยเกาค์ ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนี้คือ นายโยอาคิม เกาค์ พวกสื่อมักเรียกนายเกาค์ว่า ‘นักล่าสตาซี’ แกมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงอาชญากรรมที่ทำโดยตำรวจลับและสายสืบลับในห้วงการปกครองของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก และต่อมา นายเกาค์ผู้นี้ก็ได้เป็น ประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 คนเยอรมันมากกว่า 7 ล้านคนมาขอตรวจสอบประวัติของตนกับหน่วยเกาค์ เพื่อมาเช็กว่าตัวเองเคยตกเป็นเป้าการสอดส่องของรัฐหรือเปล่า บ้างมาขอทราบรายชื่อของสายสืบลับที่รัฐส่งมาเฝ้าสอดส่องตนเอง บางคนก็มาขอให้ช่วยตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนว่าเคยพัวพันกับสตาซีหรือไม่
...
มีจำนวนไม่น้อยนะครับ ที่พบว่าคนใกล้ชิดที่สุดของตนทำหน้าที่เป็นสายสืบลับรายงานตนอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เป็นคนรัก คู่สมรส ครู นักศึกษา ลูกจ้าง นายจ้าง ฯลฯ ทำความตกตะลึงพรึงเพริดให้แก่คนที่ไปขอตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง เมื่อพบตนถูกคุกคามโดยตำรวจลับ หรือสายสืบลับ เหยื่อจึงเรียกร้องการชดเชยเยียวยา
หลังจากการรวมประเทศ คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับรัฐของเยอรมนีจะต้องไม่มีประวัติด่างพร้อยด้านการเคยพัวพันหรือเคยเป็นสายสืบลับให้กับกระทรวงความมั่นคงของรัฐ
ครั้งหนึ่งหน่วยเกาค์ตรวจพบว่ามีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรายหนึ่งของรัฐทูริงเง็นเคยเป็นสายสืบลับให้กระทรวงความมั่นคงของรัฐ ผู้แทนคนนั้นก็ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งโดยทันที
อีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนโดนละเมิด กฎหมายเยอรมนีตะวันออกกำหนดว่า อสังหาริมทรัพย์ของบุคคลที่อพยพออกจากเยอรมนีตะวันออกภายหลัง ค.ศ.1949 รัฐบาลสามารถยึดเป็นของรัฐได้โดยไม่ต้องมีมาตรการชดเชยใดๆให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
พอมีประเทศใหม่เกิดขึ้น คนที่เคยถูกรัฐยึดทรัพย์สินก็ไปเรียกร้องคืน รัฐสภาเยอรมนีจึงได้ผ่านกฎหมายรัฐบัญญัติกำกับทรัพย์สินที่มีปัญหา เพื่อช่วยให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึดไปโดยรัฐเยอรมนีตะวันออกได้กลับคืนสู่เจ้าของอันชอบธรรม
ในช่วงที่ปกครองประเทศ รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกก่ออาชญากรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งการสูญเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียมิตร และสูญเสียชีวิตส่วนตัว รัฐบาลใหม่จึงสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ โดยผ่านกลไกและมาตรการต่างๆ
ถ้าเป็นคดีฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าก็ส่งไปที่ ‘ศาล’ ในกรณีการชดเชยเยียวยาแก่นักโทษการเมืองและการยึดอสังหาริมทรัพย์ก็ออก ‘กฎหมายเฉพาะ’ และตั้ง ‘องค์กรที่มีความโปร่งใสหรือหน่วยเกาค์’ เพื่อเปิดเผยเอกสารข้อมูลของสายสืบลับ
หลายประเทศที่ผ่านความขัดแย้งรุนแรง พอได้รัฐบาลใหม่ก็มักจะตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อการปรองดอง อย่างเช่นในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
เยอรมนีไม่ตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง
แต่มุ่งมั่นเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต
ความสงบจึงเกิดขึ้น.