คงจะจำกันได้นะครับ ว่าในการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “บิ๊กตู่” ได้พูดถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ ไทยเอาไว้ในหลายแห่ง หลายที่ที่ท่านขึ้นปราศรัย และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ข้อมูลตัวเลขสำคัญที่ท่านอ้างถึงบ่อยครั้งก็คือ ประเทศไทยสามารถลดความยากจนลงได้ จากสัดส่วนร้อยละ 42 ในปี 2543 จนเหลือเพียงร้อยละ 10.9 ในปี 2556

หรือเมื่อคิดเป็นจำนวนประชากรยากจนก็คือ จาก 26 ล้านคน เหลือเพียง 7.3 ล้านคน

ผมเห็นด้วยกับบิ๊กตู่ครับว่า เราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนจนเป็นที่ยอมรับขององค์กรระดับโลกหลายๆองค์กร ทั้งธนาคารโลกและสหประชาชาติ

หลังจากที่รัฐบาลไทยในยุคที่ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการกำหนดแผนพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนไว้อย่างชัดเจน ในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529

รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการและลงมือดำเนินการอย่างคึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้ทั้งสัดส่วนคนยากจนต่อประชากรทั้งหมด และจำนวนคนจนลดลงตามลำดับ

ผมไม่มีตัวเลขอยู่ในมือ จึงไม่แน่ใจว่าสัดส่วนและจำนวนคนจนก่อนแผนพัฒนาฉบับที่ 5 เป็นเท่าใด แต่คงจะกล่าวโดยอนุโลมได้ว่า

น่าจะเป็นจำนวนและเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก

เพราะแม้จะมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งในยุคป๋าเปรมแล้ว ตัวเลขสัดส่วนเท่าที่สืบค้นได้ ซึ่งเริ่มจากปี 2531 ก็ยังสูงถึงร้อยละ 65 และคิดออกมาเป็นจำนวนประชากรถึงกว่า 34 ล้านคน

ต่อมาสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 35 ในปี 2539 และจำนวนประชากรยากจนก็ลดลงไปจนเหลือประมาณ 20 ล้านคน

แต่พอมาถึงปี 2540 เศรษฐกิจประเทศไทยเจอปัญหาต้มยำกุ้งทำให้ต้องกู้ไอเอ็มเอฟ กว่าจะฟื้นได้ต้องใช้เวลาหลายปี

สัดส่วนคนจนของประเทศไทยจึงเพิ่มขึ้นอีกครั้งมาเป็นร้อยละ 42 และจำนวนคนจนก็เพิ่มกลับมาที่ 26 ล้านคน ในปี 2543

...

จนกระทั่งเศรษฐกิจไทยเรากลับสู่ภาวะการขยายตัวตามปกติ ทุกอย่างค่อยดีขึ้นเป็นลำดับทั้งสัดส่วน และจำนวนคนจนค่อยๆลดลงอย่าง มากในทุกๆครั้งที่มีการสำรวจ

ในที่สุดก็เหลือเพียงร้อยละ 10.9 และมีจำนวนคนยากจนเพียง 7.3 ล้านคนในปี 2556 ตามตัวเลขที่นายกฯตู่ไปแถลงไว้ที่นิวยอร์กดังกล่าว

แม้การแก้ปัญหาความยากจนจะประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจแต่ประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปอีก

เพราะยังมีคนจนอีกถึง 7.3 ล้านคน จากการสำรวจล่าสุด

ที่สำคัญปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเคียงข้างกับปัญหาความยากจน เพราะเป็นผลซึ่งกันและกัน อันได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้น แม้จะลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

ล่าสุด กลุ่มคนรวยสูงสุดร้อยละ 10 ของประเทศยังคงตักตวงรายได้ประชาชาติไว้ในมือถึงร้อยละ 36.8 ของทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มยากจนที่สุด ร้อยละ 10 ของประเทศ สามารถไขว่คว้ารายได้ไปเพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น

รายได้ของคน 2 กลุ่มนี้จึงยังต่างกันถึง 34.9 เท่า หรือถ้าปัดเศษให้จำง่ายๆขึ้นก็คือ 35 เท่า...มิใช่น้อยๆเลย

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความเหลื่อมล้ำอีกสารพัดอย่างตามมาในสังคมที่เงินยังมีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน

ดังนั้น แม้เราจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนลงได้เยอะจนประเทศต่างๆชื่นชม และยึดแบบของเราเป็นตัวอย่างดังที่เป็นข่าวสัปดาห์ที่แล้ว

แต่ก็อย่าปลื้มใจเสียจนลืมปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆที่ยังมีอยู่มากในสังคมไทยทุกวันนี้ก็แล้วกันครับ

จริงๆแล้วผมก็ทราบว่ารัฐบาลปัจจุบันมิได้หลงลืมและสภาพัฒน์ก็มิได้หลงลืม มีการพูดถึงเยอะมากในการสัมมนาใหญ่เตรียมแผน 12 เมื่อเดือนก่อน

ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะมีแผนปฏิบัติการและมีวิธีการดำเนินงานแก้ปัญหาอันหนักหนาสาหัสเรื่องนี้ ที่เป็นรูปธรรมและดำเนินการได้จริงจังอย่างไรเท่านั้น?

“ซูม”