อีก 5 ปีข้างหน้า โครงสร้างของตลาดแรงงานโลกจะเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เพราะคนเจนวาย หรือพวกมิลเลนเนียลส์ ที่เกิดในยุคอินเตอร์เน็ตเจริญรุดหน้า จะกลายเป็นแรงงานสำคัญของโลก ที่เข้ามาแทนที่พ่อแม่ชาวเบบี้บูม ซึ่งทยอยเกษียณอายุจนหมดลอตสุดท้ายราวปี 2025
เราคงปฏิเสธ “มนุษย์เจนวาย” ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะในอนาคตพวกเขาจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างชาติบ้านเมือง ก่อนหน้านี้ชาวมิลเลนเนียลส์ถูกหยิบขึ้นมาตีแผ่อย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดได้รับเกียรติขึ้นปกนิตยสารไทม์ พาดหัวตัวโต THE Me Me Me Generation สะท้อนถึงความเป็นเจเนอเรชั่นที่ไร้แก่นสาร หลงตัวเองอย่างหนัก มั่นใจสูงปรี๊ด ไร้สัมมาคารวะ ขาดความอดทน เห็นแก่ตัว และพอใจจะเกาะพ่อแม่กิน
ตามทฤษฎีการแบ่งกลุ่มเจเนอเรชั่นในสังคมโลกของ “Strauss-Howe generational Theory” คนที่เข้าข่ายเป็นชาวมิลเลนเนียลส์ คือเกิดระหว่างปี 1982-2004 อายุ 33-11 ปี เป็นยุครุ่นลูกรุ่นหลานของชาวเบบี้บูม (เกิดระหว่างปี 1946-1964) และเจนเอ็กซ์ (เกิดปี 1965-1984) เด็กกลุ่มนี้ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมวงกว้าง ก็เพราะผู้ใหญ่มักอ้างว่า เป็นห่วงเป็นใยอนาคตของประเทศชาติ
ไม่ว่าพวกพี่ป้าน้าอาจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ แต่ยังไงซะโลกข้างหน้าก็ต้องอยู่ในมือชาวเจนวายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในเว็บไซต์ดิจิตอลมีเดียชั้นนำของโลก Mashable ระบุว่า ภายในปี 2020 ประชากรรุ่นใหม่ ที่เรียกว่าเจนวาย จะมีจำนวนถึง 46% ของจำนวนคนวัยทำงานทั้งหมดในอเมริกา ฉะนั้นสิ่งดีที่สุดที่ควรทำ คือพยายาม ทำความเข้าใจเด็กสมัยนี้ให้มากๆ เพื่อจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างแฮปปี้ที่สุด เลิกจ้องจับผิดเด็กๆมันได้แล้วป้า
มีผลการศึกษาวิจัยจากหลายสำนักเกี่ยวกับชาวเจนวาย โดยมุ่งเน้นไปที่การรับมือกับพนักงานใหม่ในวัยนี้ ซึ่งถูกพูดถึงมาตลอดว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานด้วยยาก จนกลายเป็นปัญหาหนักอกของหลายองค์กร ถ้าอย่างนั้นจะรับมือเด็กยุคใหม่ให้อยู่หมัด จะต้องทำยังไง
...
ในเว็บไซต์ INC QUITY เสนอแนะว่า ต้องมอบเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความมั่นใจในตัวเองสูง พวกเขาจะมีความสุขมาก เมื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และมักมองหาแต่งานที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ถ้าไม่สนุกกับงานเมื่อไหร่ ก็พร้อมลาออกอย่างไม่มีเยื่อใย กระนั้น เนื่องจากมั่นใจในตัวเองซะเหลือเกิน เมื่อล้มเหลวไม่ได้ดังใจ คนเจนวายจะผิดหวังรุนแรงกว่าคนเจนอื่น (อันนี้เป็นข้อเสียที่พึงระวัง) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กยุคใหม่ หลายองค์กรใหญ่ๆในเมืองไทย เช่น ค่ายทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเต็มไปด้วยพนักงาน เจนวาย ได้จัดโครงสร้างของตำแหน่งงานละเอียดยิบถึง 14 ขั้น เพื่อปลุกเร้าให้ชาวมิลเลนเนียลส์รู้สึกว่ามีความก้าวหน้าในอาชีพการงานต่อเนื่อง คนเจนวายไม่อึดเหมือนพี่ป้าน้าอานะคะ ที่ทนก้มหน้าทำงานในตำแหน่งเดิมอยู่ได้ตั้งแต่สาวยันเกษียณ โดยไม่ถามตัวเองว่าเราผิดอะไร ถึงไม่ได้รับการโปรโมต!!
มนุษย์เจนวายมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนเจนอื่น เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ พวกเขามักจะให้ความสำคัญกับคำว่าทีม และแคร์เพื่อนร่วมงานมากกว่ารักองค์กร เพราะคนเจนวายเกิดมาในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ต้องการการชื่นชมยอมรับจากสังคม พวกเขาศรัทธาในพลังมวลชน และการก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน การแบ่งงานทำเป็นกลุ่มจึงเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคนี้ เพราะอะไรที่ทำแล้วโดดเดี่ยว ไม่สนุก ไม่มีเพื่อน ชาวเจนวายจะห่อเหี่ยวไม่อยากทำ
มนุษย์เจนวายมีความทะเยอทะยานมากจนเห็นได้ชัด และต้องการความสำเร็จภายในชั่วข้ามคืน ไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะชอบเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพื่อก้าวกระโดดอัพเงินเดือนตัวเอง การจะซื้อใจพวกเขาได้ จึงต้องหยิบยื่นโอกาสใหม่ๆให้อยู่เสมอ สำหรับพวกเขาแล้ว ความสำเร็จและความก้าวหน้าในอาชีพการงานสำคัญกว่าตัวเลขเงินเดือนด้วยซ้ำ พวกเขายังต้องการเวทีสำหรับแสดงออกทุกวัน และอยากมีส่วนร่วมในทุกความสำเร็จขององค์กร อะไรที่เป็นงานรูทีนซ้ำซากจำเจไม่ถูกสเปกคนเจนวาย เมื่อพวกเขาทำอะไรสำเร็จก็อย่าลืมชมเสียงดังๆถึงจะได้ใจ.
มิสแซฟไฟร์