แวดวงนักข่าวเล่ากันว่าหลายคนในจำนวนจำเลยคดีแบงก์กรุงไทย ปล่อยเงินกู้หมื่นล้านให้บริษัทกฤษดานคร ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเข้าคุกไว้เลย
คนหนึ่งอยู่เชียงใหม่ลางานมาวันเดียว อีกคนขับรถมาเอง พอถูกศาลตัดสินจำคุกก็ต้องทิ้งรถไว้ให้คนของศาลเฝ้า
คุณวิโรจน์ นวลแข หัวขบวนจำเลยนั้นตลอดเวลาก็เข้าวัดเข้าวา... ฝึกทำใจ ทำงานที่ไหนไม่ได้ รอวันให้ศาลตัดสินให้สิ้นสุดกันไปเสียที
คนทั้งหมดมีเหตุมีผลของตัวเองในการปล่อยเงินกู้ให้บริษัทกฤษดามหานคร
ผู้คนในแวดวงแบงก์รู้กันทั้งนั้น สถานการณ์ของแบงก์ตอนนั้น ย่ำแย่มาก หาลูกค้ากู้เงินยาก การปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่...ให้กู้ทำไม ให้กู้แล้วแบงก์จะได้จะเสียยังไง เป็นความรู้เป็นความเชี่ยวชาญเป็นอำนาจตัดสินใจของคนทำงานแบงก์
ข้อกล่าวหา...หลัก...คดีนี้เริ่มต้นจากการมี “บิ๊กบอส” สั่ง...บิ๊กบอสตอนนั้นมีความหมายไปถึงคุณทักษิณ ซึ่งเป็นนักการเมือง คดีทุจริตในแบงก์ ก็กลายเป็นคดีการเมือง ต้องขึ้นศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่พอขึ้นศาลนำสืบพยานหลักฐานกันจริงๆ บิ๊กบอสก็กลายเป็นไอ้โม่ง ใครก็ไม่รู้หาตัวตนไม่ได้
แต่จำเลย...ทุกคนก็ต้องพลอยโจนตกบันได ศาลฎีกานักการเมือง เมื่อศาลตัดสินว่า กระบวนการอนุมัติปล่อยกู้...บริษัทลูกค้า...ที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำมาก...ผิด
ผู้คนบนโต๊ะกรรมการบริหารแบงก์ก็ต้องรับผิด...เป็นที่มาของอาการ “เหวอ” เพราะยังเผลอเข้าใจ ศาลท่านคงไม่ลงลึกไปตัดสินใจ เรื่องการปล่อยสินเชื่อ ที่พวกเขามั่นใจว่า น่าจะเป็นความเชี่ยวชาญของคนแบงก์เท่านั้น
คดีนี้ แม้จะเอาจำเลยระดับปลาตัวใหญ่เข้าคุกได้...แต่ก็มีข้อสงสัย...หลายข้อ ในจำนวนคนรับส่วนแบ่งสินบนหลายคน ตามหลักฐานเงินที่โอนเข้าบัญชีคนดังซีกการเมือง 2 คนหลุดไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
...
ยังมีคำถาม...ถึงมืออาชีพอีกสองคน...สารภาพรับส่วนแบ่ง แต่ถูกกันเป็นพยาน...สิ่งที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าก็คือ สองคนที่รอดไปนั้น ในขณะพวกร่วมขบวนการอยู่ในคุก วันนี้เขากลับฟื้นคืนสู่ความยิ่งใหญ่
นี่คือประเด็นถกแถลงถึงความเข้มขลังของกฎแห่งกรรม ถ้ากฎแห่งกรรมมีจริง ทำไมท่านเปาบุ้นจิ้นแห่งศาลไคฟงจึงปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล...อยู่ได้
ในหัวข้อ “กรรม” ท่านอาจารย์พระมหาประยุทธ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายไว้ในพุทธธรรมว่า
ตามหลักพุทธพจน์ “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งสังขาร...วจีสังขาร...มโนสังขาร ขึ้นเองบ้าง...เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง...โดยไม่รู้ตัวบ้าง”
และพุทธพจน์ที่ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเอง สุขทุกข์ตัวการอื่นทำ
เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะเป็นตัวการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามกระบวนการ มิใช่ตัดสินขาดลงไปง่ายๆ
ที่กล่าวมานี้เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่งที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไรๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น
“กรรม” ในคำอธิบายของพุทธเถรวาท...ลึกซึ้งซับซ้อน กว่าจะเข้าใจต้องใช้เนื้อปัญญามาก
ลองฟัง “กรรม” ที่เหลี่ยวฝาน ขุนนางจีน ใช้เป็นหลักสอนลูก (โอวาทของท่านเหลี่ยวฝาน เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ) แปล ธรรมสภา พิมพ์)...ง่ายกว่า ชัดกว่าและน่ากลัวกว่า
ลูกจะต้องเกรงกลัวต่อการทำชั่ว เทพยดาอยู่เบื้องบนผีสางเทวดาล้วนมีร่างโปร่งแสงมีอยู่เกลื่อนกลาดทุกหนทุกแห่ง นัยน์ตาของมนุษย์ธรรมดาย่อมมองไม่เห็น ไม่ว่าลูกจะทำผิดอะไรที่คนไม่รู้ ผีสางเทวดารู้
ถ้าลูกทำความผิดร้ายแรงก็ต้องได้รับเคราะห์กรรมไม่เบา ถ้าลูกทำผิดนิดหน่อย ลูกจะได้รับความสุขน้อยลง
ผมเป็นคนปัญญาน้อย เลือกเชื่อโอวาทท่านเหลี่ยวฝาน...เพราะเห็นชัดเจน จากหลายคดีความ...กฎแห่งกรรมมีจริง สวรรค์มีตา นรกมีมือจริง แต่สำหรับบางคนแม้รอดคุกไปได้แต่ปฏิเสธได้ยังไงว่านรกในใจ...ไม่มีจริง.
กิเลน ประลองเชิง