“วิษณุ” ปิดประตูหมดเวลาแก้ร่าง รธน. โต้วุ่นรัฐประหารซ่อนรูป ตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ฯแค่ใช้อำนาจตาม รธน. กมธ.ยกร่างฯตอกฝาโลงไม่ปรับแก้เนื้อหา 19-20 ส.ค. ล็อกห้องห้ามสื่อฟังชี้แจง 9 กลุ่ม “วันชัย” ยุหงายไพ่เขียนบทเฉพาะกาลขึง 4 ปีแรกลุยปฏิรูป “สมบัติ” จ้องคว่ำคำถามประชามติ ดันรัฐบาลปรองดอง-ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ขัด รธน.ชั่วคราว พท.ยื่นหนังสือต้านพิมพ์เขียวเผด็จการ ปัด “ทักษิณ” ส่งสัญญาณคว่ำ รธน. “ยิ่งลักษณ์” วอนขอ รธน.ที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย ฉะยิ่งยื้อเวลาเศรษฐกิจยิ่งพัง “จตุพร” แฉแผนลึกยึดอำนาจล่วงหน้า ด้าน “ถาวร” ของขึ้นเฉ่งยับถึงยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ ปฏิวัติเงียบโดยไม่ต้องใช้รถถัง “บิ๊กตู่” ซุ่มเงียบรื้อโผ ครม.ไม่ลงตัว กุมขมับ “หม่อมอุ๋ย” ยื้อขออยู่ต่อ ยอมให้โละ รมต.ดรีมทีม นายกฯเร่งจัดทัพ ขรก. “สมชัย” ขึ้นชั้นปลัด ก.คลัง “สุวณา” นั่งแป้นปลัด ยธ.

กรณีพรรคการเมืองสองขั้วพร้อมใจกันวิพากษ์ วิจารณ์คัดค้าน การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ โดยตอกย้ำว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือรัฐประหารซ่อนรูป ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่าเป็นเพียงการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

“วิษณุ” ปิดประตูหมดเวลารื้อร่าง รธน.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ส.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จะสามารถปรับแก้อีกได้หรือไม่ว่า คิดว่าไม่น่าปรับได้ เพราะวันที่ 21-22 ส.ค.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องส่งร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และวันที่ 19-20 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯจะเชิญผู้ที่ขอแก้ไขไปรับฟังคำชี้แจง ว่าที่เสนอมานั้นแก้อะไรไปบ้างแล้ว ถ้าไม่พอใจก็ให้ไปโวยที่อื่น เพราะโวยกับ กมธ.ยกร่างฯเขาก็ไม่แก้ให้แล้ว ส่วนที่พรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเสนอแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าไม่ทันแล้ว

...

พลิ้วไม่ใช่รัฐประหารซ่อนรูป

เมื่อถามว่าแนวคิดการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมาจากไหน นายวิษณุกล่าวว่า เข้าใจว่าจากการฟังผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพูดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ พื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในมาตรา 16 แต่ที่มาร่างฯของไทยดัดแปลงนิดหน่อย ส่วนคณะกรรมการที่เข้ามาต้องเป็นหลักประกันว่าจะช่วยประเทศให้เกิดการปฏิรูป เกิดความปรองดอง ระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติสุดยอดได้ ตนจะไม่นั่งในกรรมการชุดนี้จะไปหาที่ยืนตรงอื่นสบายกว่าเยอะ เมื่อถามถึงข้อครหาว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นรัฐประหารซ่อนรูปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจที่คิดขึ้นเอง ส่วนเหตุการณ์ 22 พ.ค.57 อธิบายไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจึงเรียกว่ายึดอำนาจ ถ้าบอกว่าเป็นรัฐประหารคงไม่ใช่ อุปมาให้สะใจอาจจะเป็นได้ เมื่อถามว่าหากร่างรัฐธรรมถูกคว่ำจะถือการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯล้มเหลวหรือไม่นายวิษณุกล่าวว่า อย่าพูดไปก่อนจะกลายเป็นแช่งเขา หากเป็นคนอื่นอาจจะพูด แต่เป็นรัฐบาลพูดไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นรัฐบาลพูด

“บิ๊กป๊อก” งดตอบโต้ไม่อยากขัดแย้ง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคิดพิจารณาให้ดี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะคว่ำต้องเป็นความเห็นของผู้รู้ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ตนตอบไม่ได้เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปกปิดรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายต้องออกสู่สังคม ต้องเผยแพร่ก่อนจะลงมติว่าจะรับหรือไม่รับ ส่วนหลายพรรคการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา เป็นหน้าที่ของ สปช.ต้องช่วยกัน ถ้าสิ่งที่ติงถ้าดีต้องชี้แจง ถ้าไม่ดีต้องนำไปพิจารณา ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวร้ายที่สุด ขอไม่พูดถึงดีกว่า การที่จะเอาคนมาขัดแย้งกันเลวร้ายกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกทำให้บ้านเมืองมีกฎกติกา หากจะว่าเลวร้ายที่สุดก็แล้วแต่

กมธ.ถกลับทบทวนบทเฉพาะกาล

เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯเป็นประธานการประชุม มีวาระประชุมลับเพื่อพิจารณาทบทวนความถูกต้องในส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 273-285 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า สัปดาห์นี้เป็นช่วงสุดท้ายของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนนี้จะไม่มีการปรับแก้ไขเนื้อหาแล้ว จากนั้นวันที่ 19-20 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯจะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 กลุ่มมารับฟังเหตุผลในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ทราบมาว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะไม่เข้ามารับฟังเหตุผลครั้งนี้ เนื่องจากติดภารกิจ

โต้เสียงวิจารณ์เนื้อหาล้าหลัง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าล้าหลัง ขอชี้แจงว่าภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ล้าหลัง แต่ที่เป็นข้อกังขาอาจเป็นเพราะบทเฉพาะกาลได้วางมาตรการเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง กลไกเหล่านี้จะมีอายุเพียง 3-5 ปี เท่านั้น จึงไม่ใช่การถอยหลังไปยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และไม่ใช่การควบคุมอำนาจจนรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ สำหรับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่าไม่ต่างจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ให้คำปรึกษารัฐบาล หากไม่มีเหตุการณ์พิเศษก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจควบคุมและยับยั้งความรุนแรง

ปิดหูปิดตาห้ามสื่อฟังเวทีชี้แจง

เวลา 13.15 น.นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯแถลงว่าที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯพิจารณาข้อเสนอของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ขอเข้าร่วมฟังคำชี้แจงของ กมธ.ยกร่างฯต่อกลุ่มผู้เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 กลุ่มในวันที่ 19-20 ส.ค. เราเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของสื่อที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าการยกร่างฯ แต่การชี้แจงครั้งนี้เป็นเรื่องภายในที่ต้องพูดคุยกัน หากเปิดให้สื่อเข้าฟังข้อมูลอาจไม่ครบถ้วนประเด็นอาจไม่ครอบคลุม กมธ.ยกร่างฯจึงไม่อนุญาตให้สื่อเข้าฟัง โดยจะหารือกับที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เพื่อนัดพบสื่อให้ซักถามประเด็นข้อสงสัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้ สปช.วันที่ 22 ส.ค.

ยุเปิดไพ่เขียนให้ชัดเลิกหลบซ่อน

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศว่า แนวทางการปฏิรูปทั้งการให้ปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาลปรองดอง และการคว่ำรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 แนวทางมีเจตจำนงตรงกันคือให้บ้านเมืองสงบ แต่วิธีปฏิรูปประเทศ 2 ปี และการตั้งรัฐบาลปรองดองเสี่ยงเกินไป ถ้าไม่ผ่านการทำประชามติจะเสียหาย แต่การคว่ำรัฐธรรมนูญไม่เสี่ยงและไม่เสียหาย อยากเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯเลิกเหนียมอาย เขียนในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน แบบเปิดหน้าชกหงายไพ่ให้ประชาชนได้เห็น ไม่ต้องปิดบังหลบๆซ่อนๆ โดยเขียนในบทเฉพาะกาลว่าในวาระเริ่มแรก 4 ปี ต้องการให้ภาคประชาชน ข้าราชการ ทหาร และตำรวจ ร่วมปูพื้นฐานประเทศ และให้มี ส.ส.เลือกตั้ง 300 คน และ ส.ว.สรรหา 200 คน ร่วมกันเป็นสมาชิกรัฐสภา ทำภารกิจดังกล่าวภายใน 4 ปี จะได้รู้ไปว่าหาก สปช.โหวตผ่านไปแล้ว ประชาชนจะเอาด้วยกับการทำประชามติหรือไม่

“สมบัติ” จ้องยื้อ 2 คำถามประชามติ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.กล่าวว่า ได้หารือกรณีสมาชิก สปช.เสนอญัตติการตั้งคำถามทำประชามติเรื่องการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลปรองดองฯ เข้าสู่ที่ประชุม สปช.วันที่ 18 ส.ค. ที่ประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมืองเห็นว่าการเสนอญัตติตั้งคำถามประชามติดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไข ที่กำหนดให้ สปช.เสนอประเด็นคำถามประชามติภายหลังจากที่ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น ดังนั้นในวันที่ 18 ส.ค.จึงไม่สามารถนำญัตติคำถามประชามติทั้ง 2 ข้อ มาหารือในที่ประชุมได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะส่งตัวแทนอภิปรายคัดค้านไม่ให้หารือเรื่องการตั้งคำถามประชาชมติในวันดังกล่าว ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สปช.ว่าจะเห็นคล้อยตามหรือไม่

สปช.วางคิวล่องเรือหลังลงมติ

นพ.ชัยพร ทองประเสริฐ สปช.อำนาจเจริญ กล่าวว่า สมาชิก สปช.จังหวัดเคยพูดคุยกันไว้นานแล้วว่า หลังจากลงมติร่างรัฐธรรมนูญจะจัดเลี้ยงสังสรรค์กัน เดิมกำหนดไว้วันที่ 2 ก.ย.แต่เกรงว่าจะเกิดข้อครหา เพราะเป็นช่วงก่อนลงมติร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นควรจัดเลี้ยงหลังลงมติไปแล้ว โดยจะนัดสมาชิก สปช.ไปลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสังสรรค์รับประทานอาหารกัน ขณะนี้ได้มีสมาชิก สปช.ประมาณ 100 กว่าคนจ่ายเงินคนละ 1,500 บาทเป็นค่าจัดเลี้ยงมาแล้ว เบื้องต้นได้ติดต่อไปยังบริษัทล่องเรือแกรนด์เพิร์ลแล้วและจะแจ้งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ให้ทราบต่อไป

พท.ยื่นทบทวนร่าง รธน.เผด็จการ

ขณะที่เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค ไทยรักไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นนายสามารถแถลงว่า มายืนยันจุดยืนพรรคเพื่อไทยที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความไว้วางใจอำนาจประชาชน ไม่อยากให้เขียนในทางที่ใช้อำนาจมาครอบงำประชาชน สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลคือ 1.เรื่องนายกฯคนนอก 2.ที่มา ส.ว.สรรหา 200 คน 3.การกีดกันและตัดสิทธิผู้ถูกถอดถอนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต โดยเฉพาะสิ่งที่ห่วงใยมากคือ การให้ ครม.ชุดปัจจุบันแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะมาเลือก ส.ว.สรรหา และการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ 23 คน มาใช้อำนาจเต็มที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร กรณีเกิดวิกฤติเหมือนเป็นรัฐซ้อนรัฐ ใช้อำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญมาครอบงำ อยู่ภายใต้การควบคุมและชี้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ สุดท้ายแล้วคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะกลายเป็นเผด็จการ ถ้าเขียนเช่นนี้แสดงว่ายังหวั่นเกรง ระแวง ไม่คิดปรองดองสามัคคี ขอให้ กมธ.ยกร่างฯทบทวนด้วย

ปัดนายใหญ่เป่านกหวีดปักธงต้าน

นายสามารถกล่าวว่า ดูแล้วมีเจตนาไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติของประชาชน เพราะเนื้อหาที่ออกไม่มีพรรคการเมืองใดเห็นด้วย เหมือนต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ การอ้างว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเป็นรถดับเพลิงกรณีไฟไหม้ จึงห่วงว่าจะเป็นการหาช่องให้เกิดวิกฤติ มีคนไปจุดไฟเพื่อให้ดับเพลิงบ่อยๆเหมือนอยากให้มีวิกฤติเกิดขึ้น เพื่อให้มีนายกฯคนนอก เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร นายสามารถตอบว่า ขึ้นอยู่กับประกาศ คสช.จะเป็นอุปสรรคในการรณรงค์ประชามติหรือไม่ เมื่อถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุให้ช่วยกันต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการเป่านกหวีดให้พรรคเพื่อไทยต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสามารถตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไทยคนหนึ่ง ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าอีกสักระยะหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ นักวิชาการจะออกมาให้ความเห็นกัน

เย้ยรัฐบาลปรองดองไม่ได้เกิด

นายสามารถกล่าวว่า ส่วนคำถามการทำประชามติให้มีการตั้งรัฐบาลปรองดองนั้น ไม่มีการปรองดองที่ไหนเกิดขึ้นได้ โดยใช้กฎหมายบังคับ เชื่อว่ารัฐบาลปรองดองเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทั้งสองพรรคใหญ่ไม่มีทางตกลงกันได้ว่าจะให้พรรคใดเป็นนายกฯ ต้องไปนำคนนอกมาเป็นนายกฯ เมื่อมาเป็นแล้วจะบริหารประเทศและจะมีเสถียรภาพได้อย่างไร เพราะต่างฝ่ายต่างไม่พูดกัน ที่สำคัญจะไม่มีการตรวจสอบ เพราะไม่มีฝ่ายค้าน

นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ทุกความเห็นที่ส่งมา ไม่ว่าจะมาจากใคร กมธ.ยกร่างฯพร้อมนำไปพิจารณาทั้งหมด เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ข้อเสนอที่แต่ละฝ่ายส่งมา ก็ไม่ได้สอดคล้องกันทุกเรื่อง แต่ กมธ.ยกร่างฯจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

“ปู” ขอ รธน.ฉบับ ปชต.ที่เป็นธรรม

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นช่วงที่ สปช.รัฐบาลและ คสช.จะตัดสินใจ หลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ หวังว่าข้อคิดเห็นที่เสนอจะมีส่วนช่วยให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมากขึ้น โดยเห็นว่า 1.รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย.....ซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นว่าดิฉันเคยพูดคำนี้มาหลายครั้งแต่เชื่อว่า เราอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ในสาระสำคัญ คือ “รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน”..กล่าวคือต้องเปิดกระบวนการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญ ในการออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้ว จากคณะบุคคลก็ถือไม่ได้ว่า เกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง

บี้ คสช.เร่งคายอำนาจคืนประชาชน