เสาร์พรุ่งนี้ 09.00 - 12.00 น. ม.มหาสารคาม เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “กลยุทธ์การพัฒนาเพื่อการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของเทศบาลเมืองมหาสารคาม” รับใช้ผู้บริหารและข้าราชการ 180 คน ที่โรงแรมโนโวเทล ระยองริมแพรีสอร์ท อ.แกลง จ.ระยอง
13.00-16.00 น. บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศรีปทุม ชวน ร.ต.อ.ดร. นิติภูมิ พูด “การค้าการลงทุนในประชาคมอาเซียน” ที่อาคาร ดร.สุขุมมาลินี พุคยาภรณ์ วิทยาเขตชลบุรี จ.ชลบุรี
อาทิตย์มะรืนนี้ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ พูด “คนไทยได้อะไรจากประชาคมอาเซียน” รับใช้คณาจารย์และนักศึกษา 450 คน ที่ห้องประชุมใหญ่ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กทม.
โลกเรากำลังขยะแขยงแขงขนสินค้าที่ผลิตจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางด้านอาหารการกิน ที่มีทั้งสินค้าปลอม อย่างไข่ปลอม ข้าวปลอม แตงโมปลอม ซีอิ๊วปลอม ฯลฯ ถึงแม้ไม่ใช่ของปลอม เป็นอาหารการกินจริงๆ ที่ปลูกและถูกส่งมาขายจากจีน ผู้คนก็ยังกลัว เพราะมักจะมีสารปนเปื้อนและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ เดี๋ยวนี้ก็มีการพิสูจน์พบแล้วว่า การแพร่ขยายกระจายของโรคบางอย่างเกี่ยวดองหนองยุ่งกับพืชผักผลไม้ที่ปลูกในจีน แม้แต่โรคตับอักเสบ ที่ระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนี้มีรายงานชัดเจนแล้วว่า มาจากเบอร์รีที่ปลูกและถูกบรรจุหีบห่อในประเทศจีน ซึ่งการแพร่ของโรคตับอักเสบอาจจะติดจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคดังกล่าว
เดี๋ยวนี้ คนออสเตรเลียกว่า 60% บริโภคผลิตภัณฑ์เกษตร เฉพาะที่ผลิตจากออสเตรเลีย แม้ว่าราคาจะแพงกว่าสินค้าเกษตรที่มาจากประเทศอื่น แต่ก็มั่นใจในความปลอดภัย
หลายประเทศที่มีภาพลักษณ์ดีในด้านการผลิตอาหารการกินที่ปลอดภัย พยายามที่จะติดฉลากเพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าปลูกที่ไหน ใครปลูก แปรรูปที่ไหน และถูกบรรจุหีบห่อจากที่ไหนและเมื่อใด การติดฉลากอย่างนั้นมักจะถูกค้านจากองค์การการค้าโลกหรือ WTO เพราะองค์การการค้าโลกถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากประเทศของตนเท่านั้น อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อวัวในสหรัฐอเมริกาที่เคยติดฉลากบอกรายละเอียดของการผลิต เมื่อมีการนำเรื่องนี้ไปฟ้องที่องค์การการค้าโลก องค์การการค้าโลกก็ตัดสินค้านการติดฉลาก
...
แต่ออสเตรเลียไม่กลัวกฎองค์การการค้าโลกครับ ตอนนี้ออกพระราชบัญญัติบังคับติดฉลากประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารตั้งแต่ พ.ศ. 2559 นอกจากจะต้องบอกประเทศแล้ว ยังต้องบอกผู้ผลิต สถานที่ปลูก สถานที่แปรรูปและบรรจุหีบห่อ สำหรับสินค้าที่ผลิตในออสเตรเลีย นอกจากจะแสดงรายละเอียดดังที่ผมรับใช้ไปแล้ว ด้านบนก็จะมีโลโก้จิงโจ้สีเขียว และจิงโจ้สีทอง
5 ปีที่แล้ว พ่อของผมได้รับเชิญให้ไปดูงานเซลล์เชื้อเพลิงและสิ่งแวดล้อมที่ญี่ปุ่น หลังจากนั้น ก็มีคนพาไปดูเรื่องป่าไม้ การศึกษา และตลาดสินค้าเกษตรท้องถิ่น สินค้าเกษตรที่ขายตามแผงในชนบทของญี่ปุ่นติดฉลากในลักษณะนี้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีแล้วครับ บอกแม้กระทั่ง ชื่อ นามสกุล และครอบครัวผู้ผลิต ที่อยู่ และโทรศัพท์ติดต่อเรียบร้อย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
แนวโน้มการบริโภคของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ประเทศไหนไม่ติดตามแนวโน้มการบริโภคของโลก ก็จะเสี่ยงต่อการขายผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้ แม้ว่าองค์การการค้าโลกจะพยายามตะโกนก้องร้องบอกว่า การติดฉลากบรรยายถึงรายละเอียดของการผลิตในลักษณะนี้ เป็นการกีดกันการค้าประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นการกีดกันด้านภาษี แต่หลายประเทศก็ยังทำ
ตั้งแต่ไทยโดนสหภาพยุโรปเล่นงานเรื่อง IUU Fishing ทำให้เราเข้าใจได้ว่า แม้แต่การจับสัตว์น้ำก็ยังต้องรายงาน ว่าจับที่ไหน อย่างไร เมื่อใด แม้แต่ปลา ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นปลาตลาดมืด อย่างเช่นเมื่อเดือนก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณรัฐปาเลาจับเรือประมงของเวียดนามได้หลายลำ และพบปลาทะเลเป็นจำนวนหลายตัน ไต้ก๋งและลูกเรือชาวเวียดนามไม่สามารถบอกได้ว่า ปลาเหล่านั้นจับที่ไหนเมื่อใด เจ้าหน้าที่รัฐของปาเลา ก็เอาปลาทั้งหมดหลายตันนั้นทิ้งทะเล และก็เผาเรือเวียดนามทุกลำที่เข้ามาในน่านน้ำปาเลาอย่างผิดกฎหมาย
แนวโน้มการผลิตสินค้าของโลกนี่ล่ะครับ ที่เราจะต้องช่วยบอกพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันให้ได้ทราบ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรของเรา.