การสังเกตยาหมดอายุ
ในการรับประทานยาสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงเป็นอย่างมาก คือ การสังเกตว่ายาหมดอายุหรือยัง ยายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ยาหมดอายุบางชนิดทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจนอาจกลายเป็นโรค กระเพาะอาหาร หรือแทนที่จะระงับโรคกลับทำให้โรคลุกลามมากขึ้น ตัวยาบางชนิดเมื่อเกิดการเสื่อมอาจก่อให้เกิดโทษและเป็นภัยแก่ร่างกาย ถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้
ยาส่วนมากจะระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน
โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า Manu.Date หรือ Mfg.Date ตามด้วยวัน เดือน ปี ของวันที่ผลิตยา
ส่วนวันหมดอายุจะเขียนว่า Expiry Date หรือ Used before หรือ Expiring หรือ Use by แล้วตามด้วย
วัน-เดือน-ปี ของวันที่ยาหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp.date 30/07/11 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 30 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2011
ยาบางชนิดระบุไว้เพียงวันผลิตแต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยทั่วไปหากเป็นยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต แต่หากเปิดใช้แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการดูแลได้ดีพอหรือไม่ เช่น การใช้ปาก จิบยาแก้ไอจากขวด (ไม่ควรทำเพราะจะไม่รู้ปริมาณยาที่แน่นอน) จะทำให้ยาปนเปื้อนและเสียได้ในเวลา 2-3 วัน หากกินโดยการเทใส่ช้อน ปิดฝาอย่างดี และเก็บไว้ในตู้เย็น สัก 3 เดือนก็ควรนำไปทิ้ง ในกรณีที่เป็น ยาเม็ดสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต
คุณผู้อ่านพอจะรู้วิธีการดูวันหมดอายุของยาไปบ้างแล้ว ติดตามวิธีการสังเกตยาหมดอายุที่เสื่อมคุณภาพในศุกร์สุขภาพตอนต่อไป การเฝ้าระวังหรือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็น อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของเราปราศจากอันตราย จากการรับประทานยาที่เสื่อมคุณภาพและหมดอายุได้อย่างแน่นอน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
...