สิงคโปร์แอร์ไลน์ส SQ981 + SQ478 พาคณะ Investment Opportunities Survey In South Africa บินจากไทยไปแอฟริกาใต้ตั้งแต่วันอาทิตย์เมื่อวาน จันทร์วันนี้ เมื่อล้อเครื่องบินแตะสนามบินโยฮันเนสเบิร์ก คณะก็ต้องนั่งรถต่อไปยังกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ เข้าพบ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยในตอนเช้า พอถึงตอนบ่ายก็พบกับ TISA ซึ่งเป็นสำนักงานการค้าและการลงทุนของแอฟริกาใต้ ก็คงจะประชุมกันนาน
คณะประกอบด้วยนายโชคดี แก้วแสง นางสาวชลลดา อารีรัชชกุล นางสาวกัญญาณี ปุสเดโว รองเลขาธิการและข้าราชการบีโอไอ นายชาญ ดุลยะเสถียร ผอ.บริษัท ซัมมิต โอโต บอดี้ อินดัสตรี นายพิสิฐชัย พัฒน์สินศิริ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี นายพีระศักดิ์ โหสกุล ซีอีโอ บริษัท เสรีวัฒนา เอนเทอไพร์ซ ดร.ณัฐพรพรรณ อุตมา อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ประธานที่ปรึกษาบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในประเทศตลาดใหม่ของบีโอไอ ฯลฯ
ประสงค์ของการเดินทางของเราก็คือ ต้องการนำคณะลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปสำรวจโอกาส และลู่ทางลงทุนในแอฟริกาใต้ ที่เราเน้นในครั้งนี้ก็คือ เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
ตั้งแต่มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2537 อุตสาหกรรมรถยนต์ + อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ของแอฟริกาใต้ขยายตัวมากทั้งด้านค้าปลีก การผลิต การส่งออกรถยนต์ ส่งออกอะไหล่ มีมูลค่าสูงถึง 7.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม
ในโลกของเราทั้งใบนี่นะครับ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ผลิตรถยนต์ได้ 0.8% ผู้อ่านท่านดูตัวเลขแล้วอาจจะร้องว่ายังน้อย แต่ผมขอเรียนนะครับ ว่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดใน 54 ประเทศในทวีปแอฟริกานี่ เป็นรถที่ผลิตในแอฟริกาใต้ซะ 75% บางปีประเทศนี้ ผลิตรถยนต์ได้ 7 แสนคัน ก็มีชิ้นส่วนที่ผลิตในแอฟริกาใต้ส่งออกไปขายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่ซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จากแอฟริกาใต้ก็มี อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป ฯลฯ
...
พ.ศ.2557 ปีที่แล้วเพียงปีเดียว โลกเราผลิตรถยนต์ 89.7 ล้านคัน เป็นรถยนต์นั่ง 67.5 ล้านคัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 22.2 ล้านคัน แบ่งเป็น 20.3 ล้านคัน ในทวีปยุโรป 21.3 ล้านคัน ในทวีปอเมริกา 47.4 ล้านคัน ในภูมิภาคเอเชีย/ โอเชเนีย และ 0.7 ล้านคัน ในทวีปแอฟริกา
นอกจากที่เราจะสนใจในเรื่องของการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร สินค้าที่เป็นอาหารการกินแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งสำหรับมนุษยชาติก็คือยานยนต์ เราจึงต้องเก่งเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ถ้าเราไม่เก่งทั้งห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรม ให้เราขายข้าว ขายยาง ขายหอมกระเทียม ได้เท่าใด ก็เอาเงินที่ขายสินค้าเกษตรได้ไปซื้อยานยนต์มาใช้เดินทางและขนส่ง
รัฐบาล สถาบันการศึกษา และเอกชน ต้องทุ่มเทการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนขั้นพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้นะครับ บ้านเรายังไม่มีแหล่งวัตถุดิบขั้นพื้นฐานในประเทศ พวกเหล็ก หนัง สิ่งทอ สำหรับทำพรม เม็ดพลาสติก เรานำเข้าเกือบทั้งหมด วัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่เราผลิตได้เองมีอย่างเดียว คือ ยางพารา ถ้าอยากจะให้ประเทศมีรายได้ของแท้แน่นอน ผมว่าพวกที่เป็นรัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ ทางด้านหนุนให้ประเทศมีอุตสาหกรรมต้นน้ำ ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องมือเครื่องจักร และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
ส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำในเรื่องนี้ก็เป็นการนำชิ้นส่วนขั้นพื้นฐาน ที่เรามีอยู่ในประเทศตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นของบรรษัทข้ามชาติ หรือเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีการร่วมทุนกับคนไทย มีไม่กี่บริษัทที่เจ้าของเป็นคนไทยจริงๆ ในชิ้นส่วนบางประเภท บริษัทแม่ที่เป็นบรรษัทข้ามชาติยังแบ่งให้บริษัทคนไทยร่วมออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนตามที่บริษัทแม่กำหนด พวกบริษัทประกอบรถยนต์ก็จะเลือกซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด
อุตสาหกรรมปลายน้ำในเรื่องนี้ก็คือ การเอารถยนต์ที่ประกอบเสร็จแล้วไปขายและมีบริการหลังการขาย พวกซ่อมบำรุง อะไหล่ ฯลฯ ในเรื่องนี้ เราก็ต้องส่งเสริมคนของเราให้เก่งเรื่องอุตสาหกรรมประกันภัย สถาบันการเงิน การซ่อมบำรุง อะไหล่ ฯลฯ
อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ประเทศพวกนี้เราเข้าไปแข่งขันยาก ที่ยังพอมีโอกาสก็นี่แหละครับ ทวีปแอฟริกา
เขียนถึงชาติแอฟริกาทั้ง 54 ประเทศ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็น เบอร์ 1 เป็นนัมเบอร์วัน นี่คือเหตุผลว่าทำไม เราเดินทางมาแอฟริกาใต้
เอาละครับ พรุ่งนี้ขออนุญาตกลับมารับใช้กันต่อ คืนนี้นิทราราตรีสวัสดิ์ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ.