คิดว่าช่วงนี้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซคงอยู่ในความสนใจและเป็นที่ลุ้นกันของคนทั้งโลกอยู่แน่นอน ว่าตกลงกรีซจะได้อยู่กับกลุ่มประเทศใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ต่อไปหรือไม่ ยิ่งเมื่อผลประชามติ ที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ที่ชนะเลือกตั้งได้ด้วยการชูนโยบายต่อต้านมาตรการรัด เข็มขัด ใช้เป็นอาวุธหวังไปคุยกับกลุ่มเจ้าหนี้ออกมาสมใจคนชง คือ ยอดโหวตไม่รับเงื่อนไขเจ้าหนี้มีมากกว่าโหวตรับ ยิ่งทำให้เจ้าหนี้ปวดหัวปวดตับ
เมื่อลูกหนี้อย่างกรีซที่เบี้ยวหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาแล้ว ยังทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ไม่ยอมเอาเงื่อนไขเจ้าหนี้ จึงสุ่มเสี่ยงล้มละลายจนอาจต้องหลุดจากยูโรโซน
แต่มีอีกเรื่องที่ดูผิดแผกจากความคาดหมาย นักการเมืองฝีปากกล้า นายยานีส วาโรฟอกีส ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ให้คนโหวตไม่รับเงื่อนไขเจ้าหนี้มาตลอด ได้ลาออกไม่กี่ชั่วโมงหลังประชามติออกมาสมใจ
คำถามคือ ผลประชามติถือว่ากำชัยชนะ แท้ๆ ลาออกทำไม? มันผิดธรรมเนียมนักการเมือง เสียจริง
คำตอบอยู่ที่เจ้าตัวแล้ว! “ตนรู้สึกว่าลาออกจะช่วยให้กรีซได้ทางออกจากวิกฤติหนี้” นายวาโรฟอกีส บอกและเสริมว่า กลุ่ม รมว.คลังยูโรโซนต้องการอย่างนี้ เพราะที่ผ่านๆมาถูกตนเองเข้าปะฉะดะซะหลายยก ที่ผ่านมา วาโรฟอกีสได้แสดงท่าทีไม่ไว้หน้าเจ้าหนี้บ่อยๆ อย่างเคยบอกว่ามาตรการรัดเข็มขัดไม่ต่างอะไรกับการพยายามรีดนมวัวป่วยโดยต้องใช้แส้หวดไปด้วย และที่หนักสุดคือไปกล่าวหาเหล่าผู้นำยุโรปเป็น พวกก่อการร้าย ต่อกรีซ เล่นกันแรงอย่างนี้ใครจะคุยด้วย
ท่าทีของวาโรฟอกีสแม้จะได้ใจคนในบ้าน แต่อีกทางก็ถูกเพื่อนยุโรปเกลียด เลยกลายเป็นอุปสรรคการเจรจาข้อตกลงจัดการหนี้ของประเทศ เพราะ รมว.คลังเป็นหนึ่งในผู้มีหน้าที่สำคัญในการพูดคุยกับเจ้าหนี้ที่ถ้าถูกเกลียดขี้หน้าคงคุยกันยาก
...
และการที่นายซีปราสไม่ยอมทัดทานการลาออก ก็บอกชัดว่า ต้องการคุยจัดการปัญหาหนี้รอบใหม่และได้ข้อตกลงกันโดยเร็วสุดเท่าที่จะเร็วได้และก็น่าจะพอสมเหตุสมผล เมื่อล่าสุด (8 ก.ค.) ยูโรโซนให้โอกาสกรีซจนถึงสุดสัปดาห์เพื่อให้ไปทำแผนปฏิรูปที่ชัดเจนมาเสนอ! และต่อมากรีซก็ยอมอ่อนข้อ! เสนอเองว่า จะปฏิรูประบบ บำเหน็จบำนาญและภาษีอย่างด่วนภายในอาทิตย์หน้า พร้อมๆกับยื่นขอกู้เงินช่วยเหลือใหม่ระยะ 3 ปีจากกองทุนสนับสนุนพิเศษของยูโรโซน และนั่นจึงพอมีช่องไฟให้หายใจหายคอได้บ้าง...แต่ก็ต้องลุ้นกันต่ออีกหลายยกล่ะ.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์