ย้อนหลังไปเมื่อ 43 ปีที่แล้ว...ใน ปี 2515 องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จัดให้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศทั่วโลก และผู้สังเกตการณ์มากกว่า 1,500 คน เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งแผนดำเนินการและปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
ผลจากการประชุมในครั้งนั้น ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกหันมาร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ขึ้น และรัฐบาลจากนานาประเทศได้รับข้อตกลงจากการประชุม... ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน
นอกจากนี้ยังได้นำผลจากการประชุมดังกล่าวมาจัดทำเป็นรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต...วิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี...เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก”
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า วันสิ่งแวดล้อมโลกทุกๆปี...ถือเป็นวาระที่ประชาชนทั่วโลกจะได้ร่วมแสดงพลัง แสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่จะช่วยปกป้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่
สำหรับปีนี้...โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดการรณรงค์ให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก คือ... “7 Billion Dreams, One Planet, Consumer with Care : 7 พันล้านฝัน 7 พันล้านใจ คิดห่วงใยในผืนโลก” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อความยั่งยืน
...
นับรวมไปถึงนโยบายในการพัฒนาประเทศที่เน้นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) อันจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยทางธรรมชาติ ควบคุม...ลดมลพิษ พัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ...สิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ปรับตัวให้สอดคล้องกับการค้าภายใต้เงื่อนไข “สิ่งแวดล้อม” และ “วิกฤติภาวะโลกร้อน”
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดจัดงานเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2558 ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2558 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน พุ่งเป้าส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่สอดคล้อง
กิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การจัดมหกรรม “สร้างวินัยในโรงเรียน สู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน”, นิทรรศการเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก, นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน
อีกประเด็นเล็กๆแต่เป็นเรื่องใหญ่ พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การงดใช้ถุงพลาสติก ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนโดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อยกระดับการรณรงค์และสร้างความเคยชิน
พลเอกดาว์พงษ์ บอกว่า ตั้งแต่ปี 52 กระทรวงฯ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซุปเปอร์สโตร์ ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ภายใต้โครงการ “45 วันรวมพลังลดถุงพลาสติก ลด โลกร้อน”
น่าสนใจว่าโครงการนี้สามารถสร้างความตื่นตัวในการลดใช้ถุงพลาสติกได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับรัฐบาลผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ก็ยิ่งเกิดกระแสตอบรับมากขึ้นอย่างมาก
“เราได้จัดทำแผนที่นำทาง...การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน...หนุนเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน โรดแม็ปที่ว่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ปีที่แล้ว ประกอบด้วย 4 กิจกรรมสำคัญ”
หนึ่ง...เร่งจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ สอง...ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับขยะที่เข้ามาใหม่ โดยเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และแปรรูปพลังงานจากขยะ สาม...จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และสี่...การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน
“ไม่ว่า...ในเมืองใหญ่หรือชุมชนในชนบท ถุงพลาสติกก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเพราะอำนวยความสะดวกสบายให้มนุษย์ เมื่อต้องไปจับจ่ายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าชุมชน รวมทั้งใช้ใส่อาหาร เครื่องดื่ม...” ผลทำให้ประเทศไทยมีขยะถุงพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 73,036 ล้านใบต่อปี หรือประมาณ 5 ล้าน 6 แสนตันต่อปี หรือร้อยละ 21 ของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด ข้อมูลปี 2556 พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยอยู่ที่ 26.77 ล้านตัน...ข้อเสียสำคัญ ถุงพลาสติก 1 ใบ ต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี
ถุงพลาสติกและโฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น ส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง ด้วยรูปแบบในการบริโภคที่เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก เป็นเหตุให้มีขยะจากถุงพลาสติกและโฟมมากขึ้นทุกวัน...ขยะถุงพลาสติกเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป แต่ใช้พื้นที่ฝังกลบมากกว่า และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้กองขยะแล้วดับได้ยาก เพราะขยะถุงพลาสติกติดไฟได้ดี
หรือหากนำไปเผาทำลายก็จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีการคำนวณว่าในกระบวนการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบ...จะปล่อยคาร์บอนประมาณ 0.2 กิโลกรัม ถ้าใน 1 วันใช้ถุงพลาสติก 5 ใบแล้วทิ้งเป็นขยะ ก็เท่ากับปล่อยคาร์บอนจากการใช้ถุงพลาสติก 1 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 365 กิโลกรัมต่อปี
...
อีกทั้งการเผาขยะถุงพลาสติกจะปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและยังทำให้เกิดสารไดออกซิน ซึ่งเป็น...สารก่อมะเร็ง
ถุงพลาสติกหากทิ้งในทะเลส่งผลให้มีสัตว์ทะเลตายได้ เมื่อกินเข้าไปในกระเพาะอาหาร ถุงพลาสติกไม่สามารถย่อยได้...หากทิ้งในสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยาน ก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ถ้ากินพวกถุงพลาสติกจะเข้าไปติดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก น้ำลายยืด กินอาหารอื่นไม่ได้ ปวดท้องอย่างรุนแรง
“ถุงพลาสติก”...ยังร้ายลึกเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม โดยเข้าไปอุดตันในท่อระบายน้ำ
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝากทิ้งท้ายว่า
“เราต้องใช้กระแสสังคมกดดัน รณรงค์ปลุกจิตสำนึกต่อผู้บริโภค ...ต่อประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงปัญหา...ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกในทุกๆโอกาสที่เป็นไปได้...การนำมาใช้ซ้ำ...การนำมาแปรรูปใช้ใหม่ หากเรารู้จักใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ปัญหาขยะถุงพลาสติกก็จะบรรเทาลงได้”.