สถานการณ์มลพิษของประเทศไทยตามรายงานของ กรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2555 สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณของเสียจากภาคอุตสาหกรรมที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี เมื่อปี 2554 มีของเสียจากอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.65 ล้านตัน ปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 3.95 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 ของปริมาณกากของเสียอันตรายทั้งหมด

หลายฝ่ายอาจตั้งความหวังที่จะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีมาตรการเชิงรุกที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อรับมือกับปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน อาทิ การทิ้งกากอุตสาหกรรม ที่กากเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่างๆ มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมากขึ้นทุกที

ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรม มีการศึกษาการจัดตั้งพื้นที่เพื่อใช้ในการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรณีศึกษาที่จะมี การจัดตั้งหรือพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม อย่างครบวงจร

โครงการนี้จะประกอบด้วย ส่วนรวบรวมจัดเก็บ คัดแยกรีไซเคิล บำบัดน้ำเสียและขั้นตอนการกำจัดขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผาหรือฝังกลบ เป็นต้น

การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีระบบการกำจัดขยะมีพิษที่ถูกต้อง ประมาณ 1 หมื่นโรง

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังอยู่นอกระบบ ซึ่งไม่มีระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง อีกจำนวนไม่น้อย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งรัดให้โรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ มีการตั้งเป้าการกำจัดขยะพิษที่ถูกวิธี ไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตันต่อปีในปีหน้า

ปัจจุบันมี โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีพิษ อยู่เพียง 2 แห่ง และมี โรงงานปูนซีเมนต์ ที่รับขยะอุตสาหกรรมไปช่วยกำจัดในเตาเผาของปูนซีเมนต์อีก 10 แห่ง รองรับขยะอุตสาหกรรมทั้งประเทศประมาณ 3 ล้านตัน

...

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งรัดตรวจสอบและมีหนังสือเตือนไปถึง โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง กว่า 5 พันโรงงาน เพื่อเข้าสู่ระบบการกำจัดขยะตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยด่วนแล้ว หากยังมีการฝ่าฝืน หรือเพิกเฉย ก็จะถูกลงโทษตามระเบียบที่วางไว้

ในขณะนี้โรงงานต่างๆ มีค่าบริการกำจัดขยะอุตสาหกรรมธรรมดา ที่ราคา 700-800 บาทต่อตัน ส่วน ขยะมีพิษ อยู่ระหว่าง 2.5-5.5 พันบาทต่อตัน ส่วนใหญ่จะเป็นขยะปนเปื้อนโลหะหนัก แคดเมียม ตะกั่วและปรอท

ความเห็นของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า นโยบายที่ออกมาขัดแย้งกับความจริง เพราะ กนอ.ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมสกปรก ไม่สามารถแก้ปัญหาขยะมลพิษได้ ข้อเท็จจริงก็คือแม้ข้อกฎหมายจะกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยการขอเปิดโรงงานที่มีขนาดเล็กเพื่อให้มีการอนุญาตได้ง่าย โดยมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งจะต้องตรวจสอบให้เข้มงวดกว่านี้.

หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com