“วิษณุ” ระบุ 19 พ.ค. ครม.-คสช. หาข้อสรุปทำประชามติร่าง รธน.รื้อกำหนดเวลาโรดแม็ปทั้งหมดหรือไม่ หลัง กมธ.ยกร่างฯ เสนอเข้ามาอย่างเป็นทางการ ชี้ หนีไม่พ้น กกต.ต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดทำประชามติ
วันที่ 14 พ.ค. 58 เวลา 09.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหนังสือส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า คสช.และ ครม.จะหารือเรื่องนี้ร่วมกันในวันที่ 19 พ.ค. และถ้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามาด้วยจะดีเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ ระบุ ให้ ครม.และ คสช.เป็นผู้คิดรูปแบบการทำประชามตินั้น ถ้าจะมีการทำประชามติ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 และไม่ใช่เขียนเพียงว่า ต้องทำประชามติ แต่ต้องแก้ไขกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งหมด เพื่อให้สามารถทำประชามติได้ ส่วนที่มีการเสนอว่า การทำประชามติเป็นสิทธิของประชาชนตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ได้ให้คำตอบว่า จะทำประชามติเมื่อใด ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้มาตรา 44 ไม่ได้ด้วย เพราะมาตรา 44 เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถลบล้างอำนาจที่เท่ากันในรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไว้ได้
“ถ้าจะทำประชามติมีสองขั้นตอน คือ การแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดประตูให้ทำประชามติ และสอง คือ การลงมือทำประชามติ ไม่ใช่ทำได้ภายในอาทิตย์เดียว ซึ่งหากมีการทำคงจะเกิดเดือน ธ.ค. หรือไม่ก็ ม.ค. ซึ่งเกินกรอบเวลาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงต้องรื้อกำหนดวันเวลาใหม่ เมื่อแก้แล้วต้องเขียนด้วยว่า ให้มีการทำประชามติ และทำภายในกี่วัน นับตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำคัญต้องกำหนดว่า หากทำประชามติแล้ว ผ่านหรือไม่ผ่าน จะเกิดผลอะไรตามมา ถ้าไม่ผ่านตัวอย่างก็มี เช่น กลับไปตั้ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ หรือนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือตั้งคนกลางขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน มีด้วยกันหลายทางเลือก ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะตกลงกัน ในวันที่ 19 พ.ค.
...
ส่วนที่ โฆษก กมธ.ยกร่างฯ บอกว่า ต้องใช้เวลาดำเนินการ 90 วัน ตนว่า ต้องสอบถามไปยัง กกต. ด้วย เพราะการทำประชามติไม่เหมือนการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะหาเสียงเอง การทำประชามติ รัฐต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 47 ล้านคน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ-โทรทัศน์ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้วย” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะตนเป็นหนึ่งใน ครม.ถ้ามีการถามก็จะเป็นความเห็นของ ครม.ออกมา ไม่อยากพูดผ่านสื่อฯ และหากมีการทำประชามติเกิดขึ้น รูปแบบคำถามจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องมีหารือในที่ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไปชี้นำก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเชื่อว่า จะมีความชัดเจนหลังวันที่ 19 พ.ค.ทั้งนี้ ยอมรับว่า ตนมีข้อเสนอที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในใจไว้บ้างแล้ว เพราะในที่ประชุมร่วมอาจมีคนถาม เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้ตัดองค์กรต่างๆ ออกจาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังไม่ขอพูดในตอนนี้ เพราะมีข้อเสนอมาจำนวนมาก ว่า ควรจะพิจารณาเรื่ององค์กรต่างๆ คงต้องนำมาทบทวนและชั่งน้ำหนักดู ทั้งนี้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม.และ คสช. เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิแก้ไข