“ซุปเปอร์บอร์ด” หรือคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยจะมอบให้บรรษัทวิสาหกิจ (โฮลดิ้ง) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้ดูแล

ทั้งนี้ในขั้นตอนแรกได้กำหนดให้บรรษัทวิสาหกิจทำหน้าที่เป็น เจ้าของสำหรับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นบริษัทจำกัด เช่น

บริษัท ปตท. การบินไทย อสมท ทีโอที การท่าอากาศยาน กสท. ขนส่ง อู่กรุงเทพ ไปรษณีย์ไทย

เพื่อกำกับดูแลการทำงานและการสร้างรายได้

สคร.จะทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. กปน. กปภ. ทั้งนี้ในระยะต่อไปหากโฮลดิ้งมีผลการดำเนินการที่ดีก็จะโอนกลุ่มรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เข้าไปอยู่ในโฮลดิ้งเดียวกัน

ทั้งนี้ โฮลดิ้งจะทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้นเพื่อดูแลประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ

จะแต่งตั้งบอร์ดของรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นมืออาชีพในแต่รัฐวิสาหกิจนั้นๆ คือต้องมีความรอบรู้ในกิจการนั้นด้วย

คือมืออาชีพเฉพาะด้านเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย

การดำเนินการต่างๆจะไม่กระทบกับนักลงทุนที่ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหุ้น เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น แต่จะมีองค์กรกำกับเพื่อสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการฯ ธปท. เป็นประธาน ไปศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมายในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และการจัดตั้งบรรษัทเพื่อเสนอให้ สนช.ออกมาเป็นกฎหมาย

แต่จะต้องดำเนินการให้เร็วในยุค คสช.นี่แหละ...

การจัดระเบียบใหม่ในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการแก้ไข

...

ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้ “นักการเมือง” เข้ามายุ่งเกี่ยวและครอบงำเหมือนที่ผ่านมา เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจล้วนมีผลประโยชน์ที่มหาศาล

ไม่ให้นักการเมืองคนของพวกเขาเข้ามาเป็นบอร์ดหรือผู้บริหารเพื่อเป็นการตกรางวัลทางการเมือง ทั้งจากนักการเมืองพวกเดียวกันพรรคเดียวกัน หรือข้าราชการที่อยู่ในเครือข่าย

หรือต่อไปนี้ไม่ควรมีอัยการเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหากเกิดปัญหาในเชิงกฎหมาย

แม้บอร์ดรัฐวิสาหกิจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นองค์ ประกอบด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอัยการที่ยังอยู่ระหว่างรับราชการ

เพราะที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าผู้บริหารหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี กำไรมหาศาลไม่ว่าจะเป็น ปตท. กฟผ. การประปา ทอท. ฯลฯ ล้วนเป็นบุคคลที่ถูกคัดเลือกมาจากคนของฝ่ายการเมืองและข้าราชการในเครือข่าย

อย่างกระทรวงมหาดไทยที่มีข้าราชการระดับสูงที่ถูกนักการเมืองครอบงำก็จะได้เป็นบอร์ดหลายรัฐวิสาหกิจเข้าไปทำหน้าที่ นักการเมืองว่าอย่างไรก็จะทำตามนั้นหมด

ทำให้มีรายได้พิเศษแบบฟรีๆเพราะไม่ได้คิดหรือทำอะไรมากนัก

เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจต่างก็มีเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่แล้วจะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ อยู่ที่ว่าผู้บริหารหรือบอร์ดจะชี้ทิศทางไปไหนก็สามารถสนองได้อยู่แล้ว

ข้อสำคัญก็คือการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นโฮลดิ้ง หรือ สคร. ก็ต้องเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริตและโปร่งใสจริงๆ เพราะเป็นศูนย์อำนาจจริงๆ

มิฉะนั้นแล้วก็จะเข้าสู่อีหรอบเดิมอีก เพียงแต่แก้ปัญหาที่รูปแบบเท่านั้น.

“สายล่อฟ้า”