หากพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่คิดค้นจนสามารถนำมาใช้ได้จริงแล้ว ต้องยอมรับว่าไอเดียคนไทยไม่เคยแพ้ชาติใดๆ ในโลกแน่นอน
เช่นเดียวกับนวัตกรรมใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งคิดจากมันสมองของ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ได้พยายามศึกษาวิจัย และพัฒนา โดยนำเอา “ใยสับปะรด” วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มาผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะกับสรีระของคนไทย และมีต้นทุนที่ถูกกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
การศึกษาวิจัย และผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนจากใยสับปะรดครั้งนี้มีที่มาอย่างไร “นายว้าก” ขอชะแว้ปไปเจ๊าะแจ๊ะจากหัวเรือใหญ่ รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา สาธยายว่า “มทร.ล้านนาได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ พ.ต.อ.ชัชวรินทร์ บุนนาค ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.) แม่ทะ จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษา พัฒนา และผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนที่มีคุณภาพแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ทะ ได้นำไปใช้ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการระงับเหตุจลาจล และการปฏิบัติการพิเศษ ที่บุคลากรขาดแคลนเสื้อเกราะกันกระสุน และเท่าที่มีอยู่ก็ชำรุดขาดประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมอบให้ นายเอกรัฐ ใจบุญ อาจารย์สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มทร.ล้านนา ลำปาง และนักศึกษา คิดค้น ประดิษฐ์เสื้อเกราะกันกระสุนที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก”
ขณะที่ อาจารย์เอกรัฐ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “หลังทราบว่าได้ทำงานดังกล่าว ผมและนักศึกษาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ จาก พ.ต.อ.บัญชา เศรษฐกร รองผู้บัญชาการ ศพร.ภาค 5 ก่อนมา ปรับปรุงพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนให้ตรงตามความต้องการผู้ใช้งานจริง ทั้งเรื่องส่วนผสมของวัสดุ รูปแบบโลหะ รูปทรงทางกลศาสตร์ และทำให้มีน้ำหนักเบาลง โดยใช้วัสดุคอมโพสิตผสมเส้นใยใบสับปะรดเป็นแผ่นซับแรงกระแทก มีคุณภาพ ประหยัด ปลอดภัยและสร้างความมั่นใจแก่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน”
...
มาฟังเสียงบรรดาวัยโจ๋หนึ่งในทีมผู้วิจัย “บูม” ธนพล ศิริโภคานันท์ บอกว่า “ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมประดิษฐ์เสื้อเกราะกันกระสุนครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานวิจัยก่อนจบการศึกษาแล้ว ยังเป็นงานวิจัยที่ได้ช่วยเหลือสังคม สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความมั่นใจ ให้แก่ประชาชน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ได้ทำร่วมกับเพื่อนนักศึกษา มีอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ เป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์และรุ่นน้องได้ต่อยอดต่อไป”
ขณะที่ “บิว” ศิวพล ราชจิต กล่าวเสริมว่า “ผมและเพื่อนๆในทีมวิจัยได้นำความรู้ด้านวิชาโลหะวิทยาในงานอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต โครงสร้างพื้นฐานของเสื้อเกราะ จนถึงขั้นตอนการทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ ก่อนที่จะนำไปประดิษฐ์เสื้อเกราะ ซึ่งต้องใช้ความพยายามกว่าจะลงตัว และได้ นำไปทดสอบกับเครื่องยิงกระสุนที่โรงงานวัตถุระเบิดทางทหารสรรพาวุธทหารบก กรมอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม ปรากฏว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับ 2A สามารถป้องกันกระสุนได้ตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา หรือ NIJ standard-0101.04 (U.S. National Institute of Justice)”
“บิ๊ก” ผุดผาด คำวรรณ หนุ่มร่างบิ๊กไซส์สมชื่อ ร่วมแจมว่า “เสื้อเกราะกันกระสุนถือว่าเป็นงานวิจัยที่สร้างความภาคภูมิใจมาก อีกทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์เสี่ยงภัยในการปฏิบัติงาน ด้วยประสิทธิภาพของเสื้อเกราะที่สามารถรองรับแรงของกระสุนตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญเป็นการนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศมาก แต่มีคุณภาพดีไม่แตกต่างกัน”
ปิดท้ายที่หนุ่มผิวเข้ม “บอล” ยุทธกานต์ ยศปินตา กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักจึงทำให้เสื้อเกราะมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ไม่อึดอัดเวลาสวมใส่ ขณะเดียวกัน ยังเหมาะกับสรีระคนเอเชีย อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตยังต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ปกติราคา 12,000 บาท/ชุด เหลือเพียง 2,800 บาท/ชุด ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้เสื้อเกราะที่มีคุณภาพทั่วถึง ทั้งตำรวจและทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
เห็นผลงานเสื้อเกราะกันกระสุนจากวัสดุใยสับปะรด ที่วิจัยและพัฒนาโดยอาจารย์ และนักศึกษา มทร.ล้านนา แล้ว “นายว้าก” ต้องขอปรบมือเป็นกำลังใจให้กับไอเดียเจ๋งๆโดนๆ ที่สมกับเป็น “นวัตกรรมสร้างชาติ”
นี่ถ้าได้รับการส่งเสริมวิจัยต่อยอดจริงๆจังๆ งานนี้ต่างชาติมีหวังชวดขายเสื้อเกราะกันกระสุนให้ประเทศไทยชัวร์...!!!
นายว้าก/ รายงาน