"ถาวร" ปูดเงินแทรกแซงซื้อยางพาราหมด ชี้ปัญหาจุดรับซื้อตลาดกลางของ อ.ส.ย. น้อยเกินไป มัดมือชกชาวสวนยางต้องขายยางราคาถูกให้พ่อค้าคนกลางซื้อถูก เอามาขายแพงกินกำไรส่วนต่าง กก. ละ 10-20 บาท ซ้ำมีคนอ้างใกล้ชิดผู้มีอำนาจตัดโควตาขายยางวันละ 3-5 คัน รถเทรลเลอร์ตกคันละ 1.3 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 58 นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรฯ แทรกแซงราคายางให้สูงขึ้นโดยใช้เงินกู้ ธ.ก.ส. 6,000 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เปิดรับซื้อยางในตลาดกลาง 6 จุด คือ ที่จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.ยะลา จ.หนองคาย และ จ.บุรีรัมย์ โดยรับซื้อยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันเท่านั้น จนถึงวันที่ 9 ก.พ. 58 ซื้อยางได้ปริมาณ 97,816.38 ตัน ปรากฏว่า เงินหมด เฉลี่ยที่ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 61 บาท
แต่เมื่อเทียบราคาระหว่างราคายาง ที่รับซื้อของเอกชนในท้องถิ่นซื้อที่ กก.ละ 38 บาท ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 กก.ละ 46 บาท ราคาที่ตลาดกลางของรัฐน้ำยางสดหน้าโรงงานราคา กก.ละ 45.50 บาท ยางแผ่นดิบ กก. ละ 58.55 บาท และยางรมควัน ชั้น 3 กก.ละ 63.15 บาท มีส่วนต่างที่ กก.ละ 10-20 บาท โดยมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ชาวสวนยางประสบคือ อ.ส.ย. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้นำยางมาขาย ส่วนใหญ่จึงเป็นยางของนายทุนและพ่อค้าคนกลางเอกชน ที่รับในท้องถิ่นแล้วนำมาขายต่อ โดยต้องใช้เวลาต่อคิวขายยางที่ตลาดกลาง 7-10 วัน เพราะ อ.ส.ย. เปิดจุดซื้อน้อยมากเพียง 6 จุดเท่านั้น จึงเป็นช่องโหว่เหมือนมัดมือชก ชาวสวนยางต้องขายยางให้พ่อค้านายทุนกดราคายางแผ่นในราคาต่ำมาก เพื่อนำมาขายให้ตลาดกลางของ อ.ส.ย.กินกำไรส่วนต่าง อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
...
นายถาวร กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ 1. อ.ส.ย. ไม่รับซื้อน้ำยางสดที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่ถึง 70% นิยมขายเป็นน้ำยางสด 2. เปิดช่องให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อเพื่อทำกำไรต่อ 3. ยังพบว่ามียางจำนวนมากหลั่งไหลมาขายในโครงการมากผิดปกติ เพราะพ่อค้านายทุนซื้อยางดิบนำไปแปรรูปรมควัน นำกลับมาขายต่อในตลาดกลาง และอาจมีการเวียนเทียนนำขายซ้ำ 4. การกำหนดจุดรับซื้อยางเพียง 6 แห่ง ซึ่งไม่กระจายอย่างทั่วถึง อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ผู้คุมบัญชีรับซื้อยาง (โควตายางแต่ละวัน) กับพ่อค้านายทุน ในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ชาวสวนยางเข้าถึงการขายยาง ณ ตลาดกลางได้ยาก 4. มีการอ้างคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในรัฐบาล ขอโควตาขายยางในแต่ละจุดรับซื้ออย่างน้อย วันละ 3-5 คัน รถบรรทุกเทรลเลอร์ เฉลี่ย 1 เทรลเลอร์เท่ากับ 3 หมื่นตัน คิดเป็น 1,350,000 ล้านบาทต่อคัน (1 เทรลเลอร์เท่ากับ 30 ตัน เท่ากับ 30,000 กก. ส่วนต่างเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15 บาท 3 คูณ 30,000 คูณ 15 เท่ากับ 1,350,000 บาทต่อคัน และถ้า 3 คันเท่ากับ 3 คูณ 1,350,000 เท่ากับ 4,050,000 บาทต่อแห่งต่อวัน หากสมมติโควตามีทุกแห่งจะเท่ากับ 6 คูณ 4,050,000 เท่ากับ 24,300,000 บาทต่อวัน)
ทั้งนี้ นายถาวร กล่าวต่อว่า ตนเองได้หารือกับตัวแทนชาวสวนยางแล้ว มีข้อเสนอแนะว่า 1. รัฐบาลควรกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนยาง 2. ให้ทุกอำเภอในพื้นที่ปลูกยางหนาแน่นเป็นเขตรับซื้อ-ขายยางในพื้นที่โครงการ เพื่อกระจายจุดรับซื้อยางให้ทั่วถึง โดยให้นายอำเภอ เกษตรอำเภอ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ 3. ต้องกำหนดชนิดของการรับซื้อยางให้ครอบคลุมทั้งน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน 4. รัฐต้องมีมาตรการเข้มงวดป้องกันขบวนการทุจริต ซึ่งตนยืนยันว่า มีการรั่วไหลและทุจริตไปยังผู้ที่มีอำนาจและพ่อค้านายทุนคนกลางจริง เม็ดเงินถึงมือชาวสวนยางน้อยมาก จึงขอเรียนให้นายกฯ และครม. รับทราบ เพื่อปรับปรุงแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมขอให้สั่งการตรวจสอบการทุจริตและเอาคนทุจริตมาลงโทษให้ได้