ชาวเน็ตจวกยับ! นักท่องเที่ยวจับปลานีโมขึ้นจากน้ำมาถ่ายรูป นักวิชาการประมง เผย เสี่ยงถึงตายจริง ชี้ หากยังคะนองจับกันอีก ระบบนิเวศอาจพังด้วย ด้าน ผู้ว่าฯ ซัดไม่เหมาะสม ชี้หากทำในเขตอุทยานจะมีความผิด ...
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกโซเชียลไปแล้ว เมื่อมีผู้ใช้งานเว็บไซต์พันทิป ชื่อว่า “วิ่งตามหาเธอจนเบื่อแล้ว” เข้ามาตั้งกระทู้ว่า “นี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่น่าจะทำโดยเด็ดขาด แต่มีกลุ่มคนมักง่ายจำนวนน้อย ยังทำ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ มีชายผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนหนึ่ง ได้ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก ใส่ชุดว่ายน้ำ พร้อมสน็อกเกิ้ล และจับปลานีโมไว้ในมือ ที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยระบุข้อความว่า “หอบแดกเจ้าค่าาาาาาา จับเจ้านีโม แสนน่ารัก.” ซึ่งผู้ที่ตั้งกระทู้ได้ให้ความเห็นว่า ยอมให้บ้านของตนไม่มีคนมาเที่ยวยังดีกว่า มีคนมาทำลาย ทั้งนี้ ก็มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่นั้น ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ การนึกสนุก คึกคะนอง การจับปลานีโม ขึ้นมาถ่ายรูปอวดลงโซเชียลไม่ถูกต้อง สงสารปลานีโม ถึงแม้จะจับขึ้นมาแล้วปล่อยลงทะเล แต่ปลานีโมก็ไม่แข็งแรงเท่าเดิม นักท่องเที่ยวไม่ควรทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ ควรช่วยกันอนุรักษ์กันมากกว่า
...
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจำนวนมาก และไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ชายผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว ก็ได้ลบภาพออกไป พร้อมโพสต์ข้อความขอโทษชาวเน็ต โดยระบุว่า “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้นิ่งเฉย และไม่สบายใจเป็นอย่างมากเช่นกันครับ ที่ผมได้ถ่ายรูปกับปลานีโม ระหว่างไปท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ผมขอเกริ่นก่อนว่า ปลานีโมผมไม่ได้เป็นคนจับขึ้นมาเอง พี่นำทัวร์เป็นคนจับขึ้นมาให้ดู ด้วยความที่ตื่นเต้นกับความน่ารักของปลานีโม เลยเอามาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ผมยอมรับผิดที่ผมนำปลามาถ่ายรูป ผมทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมไม่มีเจตนา ผมยอมรับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ครับ หวังว่าทุกคนคงให้โอกาสผม ผมชอบทะเล ชอบท่องเที่ยว เป็นคนรักธรรมชาติเหมือนกัน ผมขอโทษจริงๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอโทษจากใจครับ”
ด้าน นายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.สตูล กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นไกด์ต่างถิ่น ที่นำทริปมาลงที่เกาะหลีเป๊ะ 4-5 ครั้งแล้ว ทั้งนี้ ตนต้องเรียนว่า การกระทำลักษณะนี้ถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากสตูลเที่ยวแบบอนุรักษ์ ดังนั้น หากจะเข้ามาเที่ยวในสตูลควรจะอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ว่าปะการัง ก้อนหินหรือปลาสวยงาม ขอให้เก็บไปเพียงความทรงจำและภาพถ่ายเท่านั้น
"การจับปลาการ์ตูนส์หรือปลาสวยงามนั้นถึงแม้ว่าไม่มีความผิด แต่หากการกระทำนั้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ก็จะมีความผิดได้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวใน จ.สตูล มีอาณาเขตอยู่ในเขตอุทยานฯ ทั้งนั้น การกระทำใดๆ ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น อีกทั้งตอนนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.สตูล ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวแล้วด้วย" พ่อเมืองสตูล ระบุ
ขณะที่ นายเจตกร หวันสู ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.สตูล กล่าวว่า เตรียมที่จะทำข้อตกลงระดับจังหวัด ที่จะต้องมีการประชุมเกี่ยวกับข้อห้ามที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะขณะนี้ไกด์ใน จ.สตูล เองทุกคนจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ซึ่งจะต้องอยู่ใน กลุ่มทรัชฮีโร่ เป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ กลุ่มรีฟการ์เดี้ยน ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ปะการัง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกคน จะต้องมีนัมเบอร์ติดไว้ทุกคน ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นไกด์ต่างถิ่นถือว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ทุกคนก็ต้องช่วยกัน เพื่อแหล่งท่องเที่ยวของเรา ซึ่งสตูลเราทำการท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศอยู่แล้ว
ส่วน นายดีนัน พัทลุง หัวหน้ากลุ่มอาสาสมัครผู้พิทักษ์ปะการัง หรือ Reef Guardian กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นไกด์ท้องถิ่นอย่างแน่นอน ซึ่งไกด์จะต้องมีบัตรติดไว้ระบุชัดเจน พร้อมกับอธิบายและแนะนำข้อมูลต่างๆ รวมทั้งรู้จักข้อห้ามที่ไม่ควรทำในพื้นที่อุทยานฯ
ทั้งนี้ เมื่อ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายสหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงประเด็นดังกล่าว โดยนายสหภพเผยว่า โดยปกติแล้ว ธรรมชาติของปลานีโมหรือปลาการ์ตูน จะต้องอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลเท่านั้น เสมือนเป็นบ้านของปลานีโม ไม่สามารถอยู่นอกตัวดอกไม้ทะเลได้เลย เพราะเป็นปลาที่ไม่สามารถป้องกันภัยอันตรายจากสัตว์อื่นได้ อาทิ ไม่มีหนามไว้ป้องกัน หรือไม่มีครีบที่สามารถว่ายน้ำได้เร็วได้ ซึ่งหากนำปลานีโมออกมาจากนอกดอกไม้ทะเล ก็มีโอกาสที่จะถูกปลาตัวอื่นทำร้ายหรือกินได้ ซึ่งโดยปกติจะอาศัยอยู่ในระดับน้ำทะเลลึกประมาณ 3 - 20 เมตร และจากกรณีดังกล่าว ที่มีการจับปลานีโมขึ้นมานั้น จากที่เห็นคาดว่า เป็นปลานีโมตัวเมีย เพราะมีขนาดใหญ่ ลักษณะนี้ ปลานีโมมีโอกาสตายได้สูง สาเหตุเพราะ
...
1. ปลานีโมต้องว่ายน้ำเร็ว หนีคนจับ และแรงดันในกระเพาะลมจะขยายตัวเร็วขึ้น ก็จะมีความเพลีย
2. การจับปลานีโมมาแล้วปล่อยในน้ำทะเลเลย ปลามีโอกาสตายได้ เพราะจากงานวิจัยที่เคยศึกษามา โดยธรรมชาติของปลานีโม ถ้าหากมีการจับขึ้นมาแล้ว จะต้องนำไปปล่อยไว้ในดอกไม้ทะเล ดอกเดิมเท่านั้น แต่ถ้านำปล่อยไว้ในทะเลเฉยๆ ปลานีโมจะเกิดอาการงง ไม่รู้ทิศทางว่าจะเข้าดอกไม้ทะเลดอกไหนดี และอาจจะถูกปลาตัวอื่นกินได้ หรือถ้าปล่อยไว้ในดอกไม้ทะเลที่ไม่ใช่ดอกไม้ทะเลเดิม ก็อาจจะถูกปลานีโมกลุ่มอื่นกัดได้
3. การจับปลานีโมขึ้นมาถ่ายรูป โดยไม่นำมาใส่ขัน หรือแก้วที่มีน้ำ แต่ใช้มือลูบจับปลา จะทำให้เมือกปลาถูกทำลาย บาดเจ็บได้ง่าย และเมื่อปลาลงไปในทะเลอาจโดนเข็มพิษดอกไม้ทะเล ทั้งนี้ หากในอนาคต ระบบนิเวศทางทะเล มีปลานีโมน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลน้อยลง นั่นหมายถึงกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เพราะเมื่อปลานีโมน้อยลง ดอกไม้ทะเลก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะปลานีโมมีหน้าที่ช่วยปกป้องดอกไม้ทะเล จากการถูกปลาผีเสื้อกิน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ไป
...
สุดท้าย นายสหภพ ได้ฝากถึงนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำว่า ตามกฎสากลของนักดำน้ำ ข้อปฏิบัติคือ นักดำน้ำต้องไม่แตะต้อง จับเล่น ทำลาย หรือรบกวนสิ่งมีชีวิตในน้ำ ยกเว้นแต่การดำน้ำเพื่อการวิจัย เพื่อการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามกฎให้ถูกต้อง สำหรับปลานีโม หรือ ปลาการ์ตูน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นปลามีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วย สีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว พบอาศัยอยู่ตามดอกไม้ทะเล ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
...
ที่มา http://pantip.com/topic/33158814