พฤหัสบดีวันนี้ 10.00-12.00 น. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “อุตสาหกรรมไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC” ที่ห้องประชุมบริษัทโรงเส้นหมี่ชอเฮง จ.นครปฐม
ต้องขอบคุณอดีตประธานาธิบดีโซเวียตที่ชื่อกอร์บาชอฟ ที่ยอมให้เยอรมนีตะวันออกเจรจากับเยอรมนีตะวันตกเพื่อรวมประเทศ + ยอมให้เยอรมนีทั้ง 2 ใช้กฎหมายพื้นฐานของเยอรมนีตะวันตก และการรวมเยอรมนีก็สำเร็จจริงๆ ในวันที่ 3 ตุลาคม 1990
มาตรา 20 ของกฎหมายพื้นฐาน ค.ศ.1949 กำหนดให้เยอรมนีเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีอุดมการณ์ของหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยของสหพันธ์หลายอย่าง อย่างเช่น ให้ประชาชนเป็น “องค์อธิปัตย์” ประชาชนใช้อำนาจประชาธิปไตยโดยผ่านผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง โดยเสรี และโดยลับ ต้องมีการออกกฎหมายโดยอำนาจนิติบัญญัติ จะต้องขึ้นอยู่กับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ส่วนการใช้อำนาจบริหารและตุลาการนั้น จะต้องเป็นไปตามข้อจำกัดแห่งกฎหมายและความยุติธรรม
เยอรมันเคยเสื่อมจากการมีผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ คนเยอรมันรุ่นต่อมาจึงขยะแขยงแขงขนคนที่มีจิตใจใฝ่เผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อรู้ว่าคนไหนใฝ่เผด็จการ คนเยอรมันก็จะรวมหัวกันต่อต้าน พวกใฝ่เผด็จการแอบซ่อนตัวทำงานอยู่ในองค์กร เมื่อใดที่เผลอทำหางเผด็จการโผล่ ก็จะถูกผู้คนขับไล่ไสส่ง และไม่ผิดกฎหมายครับ เพราะกฎหมายพื้นฐาน (ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ) ค.ศ.1949 มาตรา 20 (4) กำหนดไว้เลยว่า “ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านบุคคลใด หรือคณะบุคคลใด ที่พยายามจะล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีทางแก้ไขโดยวิธีอื่น”
กฎหมายพื้นฐานไม่ได้กำหนดจำนวน ส.ส. ว่าจะต้องมีกี่คน แต่มีเขียนไว้ใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ว่าจะต้องมี 598 คน ครึ่งหนึ่งของ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน ใช้ FPP หรือ First-Past the Post หรือหลักคะแนนเสียงข้างมากรอบเดียว
...
ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ 299 คน มาจากบัญชีรายชื่อระดับรัฐ คือเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากรัฐใครรัฐมัน เช่น รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก รัฐไบเอิร์น รัฐโลว์เออร์แซกโซนี ฯลฯ ไม่ใช่เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากทั้งประเทศแบบการเลือกตั้งของไทยเมื่อ พ.ศ.2554 แต่ไปเหมือนกับการเลือก ส.ส. สัดส่วนจากเขตใครเขตมันแบบการเลือกตั้งของไทยเมื่อ พ.ศ.2550
ประชาชนคนเยอรมันออกเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2 ครั้ง
บัตรเลือกตั้งใบแรกก็แบบเดียวกับเลือก ส.ส. เขตบ้านเรา
บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อนี่แหละครับ เป็นตัวกำหนดความแข็งแกร่งของพรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎร
คนเยอรมันเลือก ส.ส. กันทุก 4 ปี กฎหมายพื้นฐานบัญญัติไว้เลยว่า “สมาชิกต้องได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งทั่วไป โดยตรง เสรี เสมอภาค และโดยลงคะแนนลับ”
“ทั่วไป” = ไม่มีความกดดันใดๆ ต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง, “เสมอภาค” = แต่ละคะแนนเสียงมีน้ำหนักเท่ากันตามจำนวนสมาชิกที่เป็นองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร และ “โดยลงคะแนนลับ” = ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิของตนในการลงคะแนนโดยที่ผู้อื่นต้องไม่รู้ว่าเขาเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองไหน
ผมอ่านระบบเลือกตั้งทั่วโลก สุดท้ายก็มายอมรับวิธี Hare/Niemeyer ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน มาตรา 6 อนุมาตรา 2 เพราะระบบนี้ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ถูกต้อง แม่นยำ และยุติธรรม กว่าระบบใดๆ ในโลก
คนที่ได้คะแนนลำดับ 1 ในเขตเลือกตั้งใด ก็ได้เป็น ส.ส. เขตแต่คะแนนที่เหลือของที่ลงคะแนน จะไม่สูญเปล่าหายไปไหนครับ จะถูกเอาไปใส่ใน ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือเอาไปรวมกันด้วย ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ เรียกว่า ระบบผสมระหว่าง ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งและที่มาจากบัญชีรายชื่อ MMP หรือ Mixed Member Proportion
คนที่ศึกษาและออกแบบระบบการเลือกตั้งได้ดีที่สุดในโลก ผมว่าต้องเป็นแบบที่นายโทมัส แฮร์ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญชาวอังกฤษ และนายฮอร์สท์ ไนเมเยอร์ นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งได้พัฒนาสูตรเพื่อคำนวณการจัดสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในประเทศไทย ท่านที่เข้าใจเรื่องระบบเลือกตั้งของเยอรมนีดีที่สุดท่านหนึ่ง ผมว่าน่าจะเป็น รศ.ดร.โกเมศ ขวัญเมือง นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย (เกียรตินิยมดีมาก) คณะนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ม.นีช สาธารณรัฐฝรั่งเศส ท่านที่สนใจวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส.ลองไปถามท่านดูเถิดครับ.
คุณนิติ นวรัตน์