ในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมานี้ท่านที่เป็นนักอ่านหนังสือและ ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือในระดับโลกคงจะทราบแล้วว่า หนังสือที่ฮือฮามากเล่มหนึ่ง ได้แก่หนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า...

“Capital in the Twenty-First Century” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ทุนใน (คริสต์) ศตวรรษที่ 21”นั่นเอง

เป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดีที่สุดของนิวยอร์กไทม์ส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและทุกวันนี้ก็ยังขายดีอยู่ในอันดับต้นๆ

ที่น่าทึ่งก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับการนำเสนอข้อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ โดยนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มวัย 44 ปี ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Thomas Piketty ซึ่งปกติแล้วหนังสือประเภทนี้ไม่ควรจะขายได้ดีในตลาดหนังสือทั่วไป

แต่ที่ขายดิบขายดีและกลายเป็นหนังสือโด่งดังไปทั่วโลกเป็นเพราะ Piketty หยิบปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ขึ้นมาวิเคราะห์อย่างเอาจริงเอาจัง

ปัญหาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” หรือความแตกต่างของรายได้ไงล่ะครับ ปัญหาที่คนรวยยังหาเงินได้เก่งกว่าคนจน ส่งผลให้ช่องว่างของความแตกต่างระหว่างคนรวยคนจนกว้างขึ้นเรื่อยๆ

เป็นปรากฏการณ์ของโลกครับ ไม่เฉพาะแต่ในบ้านเราที่กำลังพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้เท่านั้น

ผมเองยังไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่จากการทั้งฟังและอ่านข้อคิดเห็นจากผู้ที่เคยอ่านมาแล้ว พอจะสรุปได้ว่าหนังสือหนา 700หน้า ของคุณ Piketty ได้รวบรวมสถิติและข้อมูลของยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปัจจุบัน ย้อนหลังไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเวลากว่า 300 ปี

พบว่าความมั่งคั่งจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของครอบครัวเศรษฐี หรือกลุ่มยอดพีระมิดของสังคมมาตลอด

การกระจายรายได้ดูดีขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2แต่ หลังจากนั้นก็กลับมาแตกต่างเหมือนเดิมและยิ่งกว่าเดิมในที่สุด

...

บทสรุปของนักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสรายนี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่เป็นเพราะผลตอบแทนของ “ทุน” หรือ Capital ซึ่งมากมายมหาศาลกว่าปัจจัยการผลิตอื่นๆ

เขาแสดงให้เห็นว่าตราบใดที่อัตราผลตอบแทนของทุนสูงกว่า

อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำไปเรื่อยๆ

ดังนั้นในช่วงเวลาที่อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำเทียบกับอัตราผลตอบแทนของทุนที่มีแต่จะสูงขึ้นดังเช่นทุกวันนี้ จึงคาดหมายได้ว่าความเหลื่อมล้ำจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคต

การศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า “ทุนที่มาจากมรดก” จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า “ทุนที่เกิดขึ้นใหม่” ส่งผลให้ลูกหลานของคนรวยและนักธุรกิจใหญ่ๆสามารถทำรายได้และขยายธุรกิจที่พ่อแม่สร้างไว้ให้จนกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วกว่าธุรกิจใหม่ๆทั่วไป

ลงท้ายคุณ Piketty ก็เสนอว่าวิธีแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำมีทางเดียวเท่านั้น คือรัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงด้วยการเก็บภาษีอย่างหนัก จากรายได้มหาศาลที่เกิดจากทุน

เขาเสนอให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันเก็บภาษีความมั่งคั่งสุทธิในระดับโลกที่เรียกว่า global Tax policy ในอัตราก้าวหน้าระหว่าง 1-2 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวก็ได้เสนอการเก็บภาษีจาก “ทุน” สำหรับประเทศในยุโรปและสหรัฐฯค่อนข้างสูง ซึ่งเขาบอกว่ายังไม่สูงเกินกว่าที่จะทำให้ทุนนิยมอยู่ไม่ได้ แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อให้สังคมของแต่ละ ประเทศมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนและไม่ขัดแย้ง

น่าจะเป็นข้อเสนอขอให้เก็บภาษีแรงๆ ของคุณ Piketty นี้แหละครับ ที่ที่ทำให้ทุนนิยมสะดุ้งไปทั้งบางและต้องหันมาอ่านหนังสือของเขากันอย่างขนานใหญ่มีทั้งติมีทั้งชม มีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย

บ้างถึงกับบอกว่าเป็น คาร์ล มาร์กซ์ กลับชาติมาเกิดเลยทีเดียว แถมตั้งชื่อหนังสือล้อเลียน Das Capital ของคาร์ล มาร์กซ์ ต้นกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอดีตเสียอีกด้วย

แต่ไม่ว่าเขาจะวิเคราะห์์ผิดหรือถูก และจะเป็นคาร์ล มาร์กซ์

ยุคใหม่หรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า ความเหลื่อมล้ำได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก และถ้าแก้ไขให้ลดลงไม่ได้ ปัญหารุนแรงระหว่างชนชั้น

รวมไปถึงความไม่สงบของสังคมก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างที่เขาขู่ไว้

ดังนั้นความพยายามในการลดช่องว่างของรายได้จึงต้องเป็นนโยบายสำคัญของทุกประเทศ...รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง.

“ซูม”